ออกอากาศ : วันที่ 22 พฤษภาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: นอนกรนในเด็ก
บทคัดย่อ: จากผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยนอนกรนเป็นประจำร้อยละ 10 และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ 1 ของประชากร ซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและในช่วงประถมศึกษา  ผศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  อธิบายว่า  นอนกรนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น และที่สำคัญคือ เป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งมีสาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุด คือ การมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต  เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้  ภาวะอ้วน  นอกจากนี้อาจมาจากโครงหน้าผิดปกติ คางสั้น คางเล็ก หน้าแคบ ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม โรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ  หากเด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้พัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาผิดปกติตามมา  วิธีการสังเกตว่าเด็กจะมีภาวะนี้หรือไม่ สามารถดูได้จากอาการต่าง ๆ ได้แก่ นอนกรนดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่ายหายใจลำบาก ต้องหายใจทางปากบ่อย ๆ ปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมก้าวร้าวซุกซนกว่าปกติ หรือเติบโตช้าและมีผลการเรียนแย่ลง นอกจากนี้ถ้ารุนแรงมากอาจมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจโตร่วมด้วยได้  เป็นต้น  เมื่อมาพบแพทย์ เด็กที่นอนกรนจะได้รับการซักประวัติ  ตรวจร่างกายตั้งแต่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก ช่องปาก  ตรวจปอดและหัวใจ  อาจมีการเอกซเรย์บริเวณศีรษะด้านข้าง  เพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ และหากทำได้เด็กที่นอนกรนควรรับการทดสอบการนอนหลับ(sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถทำในโรงพยาบาลหรือที่บ้านตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและช่วยเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป  สำหรับแนวทางการรักษาภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก ควรเริ่มต้นที่ การปรับสุขอนามัยการนอน  นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอนและตื่นอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ ในรายที่อ้วนต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร งดรับประทานขนมจุกจิก  หรืองดน้ำหวานและต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  ส่วนการรักษาด้วยยาที่ใช้บ่อย ได้แก่ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก  ยารักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาต่อมทอนซิลติดเชื้อ  นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่อง CPAP  และรวมถึงการใช้เครื่องขยายขากรรไกร  ซึ่งเป็นทางเลือกอื่น ๆ อย่างไรก็ดีการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก แต่จะรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับแต่ละรายไป การนอนกรนนั้นเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ซึ่งมีอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว  อย่างไรก็ตามภาวะนี้สามารถรักษาได้ผลดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ  ตามมา  ดังนั้นหากบุตรหลานของท่าน นอนกรนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือการรักษาที่ถูกต้องต่อไป  

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช