ออกอากาศ : วันที่ 8 พฤษภาคม 2548  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รักษาโรคหืดด้วยยาพ่น
บทคัดย่อ: โรคหืดสามารถรักษาด้วยยาพ่นสูดที่มีสาร CFC เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งสารนี้เป็นตัวทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศของโลก ปัจจุบันมีการผลิตยาพ่นสูดชนิดใหม่ที่ไม่มีสาร CFC ขึ้นมาใช้แทน รศ.นพ.นิธิพัฒน์  เจียรกุล  ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า  โรคหืดเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  สาเหตุของโรคเกิดจากหลายปัจจัยปัจจัยแรกคือโรคภูมิแพ้ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม  เช่น ถ้าเด็กมีพ่อแม่เป็นภูมิแพ้โอกาสจะเป็นโรคหืดก็จะสูงกว่าเด็กทั่วไป อีกปัจจัยคือ สิ่งแวดล้อม หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานานก็จะเกิดอาการหอบหืดขึ้นได้  อาการของโรคหืดที่ปรากฏ คือ ผู้ป่วยจะหอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงวี้ด อาการมักเกิดเป็นพัก ๆ อาจเกิดตอนออกกำลังกาย  ทำงานหนัก หรือเวลานอนกลางคืน  การรักษาทำได้ 2 วิธี คือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่จะทำให้เกิดอาการ และการรักษาด้วยยา โดยปัจจุบันยาที่ใช้รักษามี 2 ประเภท คือยาบรรเทา ได้แก่ ยาขยายหลอดลมและยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบมีทั้งชนิดพ่นสูด ชนิดกินและฉีด  ที่นิยมใช้กันมากคือยาพ่นสูตรชนิดที่ใช้ก๊าซ หรือ MDI  ซึ่งมีสาร CFC เป็นตัวขับเคลื่อน  ซึ่งสารดังกล่าวจะไปทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก จึงมีการเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนในกระบอกยาจาก CFC เป็น HFA ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ยาพ่นสูดที่มีสาร HFA จะให้ขนาดฝอยละอองเล็กและเคลื่อนตัวช้า จึงมีความนุ่มนวลมากกว่า และมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ไม่แตกต่างจากเดิม สำหรับยาพ่นสูดที่ปลอดสาร CFC นั้นจะมีคำว่า CFC Free  ติดที่ด้านข้างของบรรจุภัณฑ์ให้เห็นอย่างชัดเจนนอกจากนี้ยังมียาพ่นสูดชนิดที่ไม่ใช้ก๊าซเป็นตัวขับเคลื่อน  จึงไม่ทำลายชั้นโอโซนแต่ยากลุ่มนี้ปัจจุบันยังมีราคาแพง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช