ออกอากาศ : วันที่ 3 เมษายน 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มะเร็งไต โรคภัยที่ไม่คาดคิด
บทคัดย่อ:

ความผิดปกติของไต อาจนำมาซึ่งโรคภัยที่ไม่คาดคิด  หากไตผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นโรคเกี่ยวกับโรคมะเร็งไต ผศ.นพ.วิเชียร  ศรีมุนินทร์นิมิต ภาควิชาอายุรศาสตร์  อธิบายว่า ส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงมะเร็ง หนีไม่พ้น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ แต่ปัจจุบันโรคมะเร็งไต (renal cell carcinoma) ได้เกิดขึ้นกับคนไทย  แม้ว่าจะเป็นกันไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งอื่น ๆ ก็ไม่ควรละเลยกัน ทั่วโลกมีผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งไต 4.75 รายต่อประชากรแสนคน และผู้หญิง 2.5 รายต่อประชากรแสนคน ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งไต 1.6 รายต่อประชากรแสนคน ผู้หญิง 0.8 รายต่อประชากรแสนคน และจะพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในผู้ป่วยอายุ 50-70 ปี โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาตรวจรักษาด้วยโรคอื่น และบังเอิญมาตรวจพบมะเร็งไต   อาการที่เกิดจากมะเร็งไตอาจ  พบมีปัสสาวะเป็นเลือด ปวดที่เอว คลำเจอก้อนที่บริเวณเอว  ซีด ไข้เรื้อรัง  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด โดยอาการปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากภาวะอื่น      เช่น นิ่วในไตหรือมะเร็งที่ท่อไตได้  ซึ่งส่วนใหญ่มะเร็งไต แบ่งได้ 4 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 มีขนาดก้อนน้อยกว่า 7 ซม. อยู่เฉพาะในไตไม่ลุกลามไปส่วนอื่น  ระยะที่ 2 ก้อนมีขนาดมากกว่า 7 ซม. แต่ยังอยู่เฉพาะในไต  ระยะที่ 3  จะมีการลุกลามไปที่เส้นเลือดดำ  หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง  ส่วนระยะที่ 4  จะลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง ได้แก่ ต่อมหมวกไต หรือแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ กระดูก เป็นต้น  แนวทางการรักษามีได้ 5 วิธี ได้แก่ 

      1. การผ่าตัด ถือได้ว่าเป็นการรักษาหลักวิธีเดียวที่ทำให้หายขาดได้สำหรับมะเร็งไตระยะที่ 1-3  
      2. การฉายรังสีเป็นการบรรเทาอาการแต่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้  
      3. การใช้ยาเคมีบำบัดใช้ยับยั้งการ แพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่นแล้ว   
      4. การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นแล้วเท่านั้น  และ 
      5. การรักษาแบบ     

     เฉพาะเจาะจงมุ่งเป้าการรักษากรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น โดยใช้ยา ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง มีทั้งยากิน ยาฉีด กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ไปยับยั้งกลไกภายในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมะเร็ง 

     ผลการรักษามะเร็งไต จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค เช่น ในระยะที่ 1  จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีถึงร้อยละ 95 แต่จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ใน ระยะที่ 4  ซึ่งจะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น  ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งไตมาจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลัก โรคอ้วนก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่เกิดมะเร็งไตได้ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีบางอย่าง เช่น แร่ใยหิน แคดเมียม  รวมถึงใน ครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งไตหลายคนก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกันหากพบว่ามีอาการผิดปกติ หรือมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าอาจจะมีความผิดปกติที่ไต ก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อรักษาในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันมะเร็งไต ควรงดสูบบุหรี่ และตรวจร่างกายประจำปี  ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ จะช่วยหยุดโรคในระยะที่รักษาให้หายขาดได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช