ออกอากาศ : วันที่ 12 ธันวาคม 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
บทคัดย่อ:

หากคุณมีไข้ อาการคอแข็ง ไม่สามารถก้มคอให้คางชิดอกได้ และเจ็บเวลาก้มคอ  ปวดศีรษะ  คลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม  สันนิษฐานได้ว่าเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ ศ.นพ. อมร  ลีลารัศมี   ภาควิชาอายุรศาสตร์   อธิบายว่า โรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบเป็นการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง  เกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก วัยรุ่นผู้ใหญ่  และมีความเสี่ยงในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น  แบคทีเรีย  เชื้อรา  พยาธิ ไวรัส หรือยาบางชนิดก็ได้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย  เอ็กซเรย์ปอด  เอกซเรย์คอมพิวเตอร์    การตรวจเลือดเพื่อทำการเพาะเชื้อ และการเจาะน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง เพื่อส่งตรวจเพาะเชื้อและนับจำนวนเม็ดเลือดขาว วัดระดับโปรตีนและน้ำตาล เพื่อหาว่าเกิดการติดเชื้อชนิดใด  เพื่อให้ยาต้านจุลชีพขนานที่ถูกต้อง อาจจะต้องให้ยาลดอาการบวมของสมอง  แก้ไขความดันโลหิตต่ำ และยาป้องกันการชักถ้าจำเป็น และให้น้ำเกลือ  ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล  การรักษาแพทย์ จะให้ยารักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ  ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค นาน ๖-๙ เดือน ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา  ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส จะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน ๒-๓ สัปดาห์  ถ้าอาการไม่รุนแรง และได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มักจะหายขาดภายใน ๒-๓ สัปดาห์  แต่ถ้าเป็นรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้า อาจมีผลแทรกซ้อนทางสมองเช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก  ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชัก สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำหรืออาจตายได้ การมีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ล้างมือให้สะอาด รักษาสุขอนามัยภายในบ้าน จะเป็นเกราะป้องกันโรคต่างๆ ได้ในเบื้องต้น  สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองคือ  ฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันวัณโรคอย่าปล่อยให้หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังจนเชื้อเข้าสมอง  หากอยู่ใกล้ชิดมากกับผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น อาจจะต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกัน ไม่กินหอยโข่งดิบ เพื่อป้องกันพยาธิที่จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่สมอง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช