ออกอากาศ : วันที่ 10 ตุลาคม 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ภาวะบวมน้ำเหลือง
บทคัดย่อ: ภาวะบวมน้ำเหลือง หรือ Lympheadema  คือภาวะที่มีน้ำเหลืองคั่ง  พบได้ทั้งที่แขนและขา อาจพบในโรคเท้าช้าง หรือหลังการผ่าตัด  ภาวะบวมน้ำเหลือง  คือภาวะที่มีน้ำเหลืองคั่ง ไม่สามารถไหลกลับมาสู่หัวใจได้ตามปกติ ทำให้ส่วนปลายของแขน ขา  มือ เท้า ถุงอัณฑะ และที่แคมอวัยวะเพศบวมได้ รศ.นพ.อดุลย์  รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า โรคนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคเท้าช้าง ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อ โดยมียุงเป็นพาหะ พบทางภาคใต้  หรืออีกสาเหตุที่พบบ่อยคือผลจากการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองหรือการฉายรังสีเพื่อรักษา ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ทำให้เกิดพังผืดกั้นท่อน้ำเหลือง   ส่งผลให้ส่วนปลายแขนและขาบวมขึ้น  ภาวะบวมน้ำเหลือง  อาจตามมาด้วยการอักเสบ ผิวหนังบริเวณที่บวมจะร้อนขึ้นอย่างชัดเจน จับแล้วรู้สึกเจ็บปวด ผิวหนังอาจเป็นจ้ำสีแดง  ในรายที่เป็นมาก อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง ไม่ใช่ว่าจะมีภาวะบวมน้ำเหลืองทุกราย แต่สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำเกลือ การวัดความดัน การเจาะเลือด ในแขนหรือขาข้างที่ได้รับการผ่าตัดและอย่าออกแรงมากๆ  เช่น ยกของหนัก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะบวมน้ำเหลืองได้  ภาวะบวมน้ำเหลืองนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล  นอกจากการป้องกัน มีรายงานการวิจัยเรื่องการผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้ากับหลอดเลือดดำ พบว่าสามารถแก้ไขภาวะบวมน้ำเหลืองได้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย  ซึ่งอาจเป็นความหวังให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำเหลืองได้ในอนาคต  สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะบวมน้ำเหลือง เพราะปัจจุบัน การตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังไม่มีการแพร่กระจายของโรค ไม่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก็จะไม่เสี่ยงต่อภาวะบวมน้ำเหลือง ภาวะบวมน้ำเหลือง หลังการผ่าตัด พบได้ประมาณ 10% ดังนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา  รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งสกปรก เช่น การล้างห้องน้ำ  ทำสวน ลุยน้ำครำ  เพราะอาจทำให้เกิดแผลเปิดและติดเชื้อ ยิ่งอักเสบติดเชื้อมากเท่าใด อาการบวมก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช