ออกอากาศ : วันที่ 26 กันยายน 2553 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
การดูแลขาในหน้าฝน |
บทคัดย่อ:
|
ช่วงหน้าฝนพื้นดินและแหล่งน้ำอาจเป็นแหล่งที่มีตัวอ่อนของพยาธิหลายชนิด และพร้อมที่จะเข้าสู่ร่างกายของเรา เพื่อเตรียมป้องกันโรคที่จะตามมาเรามาทำความ รู้จักพยาธิเหล่านี้กัน รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา อธิบายว่า สิ่งมีชีวิตจำพวกปรสิตหรือพยาธิ อาจจะแฝงตัวมาในช่วงหน้าฝน ซึ่งพื้นดินเปียกชื้นแฉะ หรือมีแหล่งน้ำท่วมขัง ตัวอ่อนของปรสิตอาจไชเข้าผิวหนังของเรา ปรสิตบางชนิดอาจเคลื่อนที่ไปที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราได้ ตัวอย่างของปรสิตที่มักพบในดินที่ชื้นแฉะ ได้แก่ พยาธิปากขอ ตัวอ่อนที่ไชเข้าผิวหนังจะทำให้เกิดตุ่มแดงและคัน ปรสิตจะเข้าสู่กระแสเลือด ในที่สุดจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก เกาะผนังลำไส้และดูดเลือดเป็นอาหาร ทำให้โลหิตจาง ในผู้ที่มีภาวะซีดเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ส่วนตัวอ่อนของพยาธิสตรองจีลอยด์เมื่อไชเข้าผิวหนังจะทำให้เกิดรอยนูนแดงเป็นทางคดเคี้ยว พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยที่ลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเกิดโรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง เกิดภาวะขาดสารอาหารและถ้าพยาธิสตรองจีลอยด์เดินทางไปอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดจนทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้บริเวณที่เป็นแหล่งน้ำ อาจมีตัวอ่อนของพยาธิหอยคันซึ่งเป็นพยาธิใบไม้เลือดของโคกระบือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดตุ่มแดงและคันที่ผิวหนัง ถ้าเป็นพยาธิใบไม้เลือดที่ก่อโรคในคนจะอาศัยในเส้นเลือดดำที่ช่องท้อง ทำให้มีไข้ ปวดท้อง อุจจาระเป็นมูกเลือด ตับม้ามโต ตับแข็ง ท้องมาน และเสียชีวิตได้ พยาธิ ใบไม้เลือดบางชนิดทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและถ่าย ปัสสาวะเป็นเลือด การป้องกันการติดต่อของพยาธิเข้าสู่ผิวหนัง ทำได้ง่าย ๆ คือสวมรองเท้าที่ปกปิดเท้าและขา หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระลงดิน ใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ ส่วนการรักษา ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การ รักษาที่เฉพาะต่อพยาธินั้นๆ และการรักษาตามอาการที่ผิวหนัง เพื่อความปลอดภัย ควรหาวิธีป้องกันโรคเอาไว้ก่อน ถ้าไม่สามารถสวมรองเท้าที่ปกปิดเท้าและขาได้ หลังการเดินลุยน้ำ ต้องฟอกสบู่ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดและเช็ดเท้าและขาให้แห้ง |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|