ออกอากาศ : วันที่ 19 กันยายน 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เชื้อโรคร้ายในน้ำท่วมขัง
บทคัดย่อ:  ช่วงที่ฝนตกหนักหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง อาจทำให้มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในน้ำหลายชนิด และเมื่อเราต้องเดินลุยน้ำ  อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อได้ รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย  กีรติสิน  ภาควิชาจุลชีววิทยา  อธิบายว่า  โรคติดเชื้อที่มาจากการเดินลุยน้ำมีหลายโรค ที่สำคัญและพบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ โรคฉี่หนูหรือทางการแพทย์เรียกว่า เลปโตสไปโรซิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเส้นเกลียว  โดยมีหนูเป็นเป็นแหล่งเชื้อหรือพาหะนำโรค แต่สัตว์อื่น เช่น โค กระบือ สุกร และสุนัข ก็เป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน  สัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่เชื้อมักรวมกลุ่มอยู่ในบริเวณท่อไต และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ  ดังนั้นในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังอาจมีการปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์  ผู้ที่ต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำขัง อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ผิวหนัง โดยมีระยะฟักตัวของโรคระหว่าง 1 ถึง 4 สัปดาห์  สำหรับผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ แต่บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบหรือตาแดง  ปวดกล้ามเนื้อตามตัว และคลื่นไส้อาเจียน รายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ร่วมกับมีความผิดปกติของตับและไต มีตัวเหลือง ตาเหลือง  จนถึงเสียชีวิตได้   การรักษาผู้ที่มีอาการรุนแรงควรจะได้รับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมโดยเร็วหลังเกิดอาการ และให้รักษาภาวะแทรกซ้อนที่พบ เช่น ให้การรักษาภาวะตับวายหรือไตวายที่พบได้ในผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรง  นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้อ แบคทีเรียอื่นๆ เช่น เชื้อ “ วิบริโอ” และ “แอโรโมแนส” พบเชื้อได้ตามแหล่งน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในชุมชน เชื้อเข้าทางแผลรอยข่วนที่ผิวหนังและก่อให้เกิดการติดเชื้อ มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ผิวหนังบวมแดงอักเสบ มีตุ่มน้ำปนเลือดขนาดใหญ่ ปวดกล้ามเนื้อขามากจนเดินไม่ไหว และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นพึงหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบูทป้องกันในฤดูฝน โดยเฉพาะผู้ที่มีแผล รอยเกา หรือ รอยขีดข่วนที่ขารวมถึงการดูแลสุขอนามัยของที่อยู่อาศัย  กำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่จะเป็นพาหะของโรคด้วย

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช