ผู้ที่มือเท้าชา อาจจะไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 เสมอไป แต่อาจเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดอันตรายได้ รศ.พญ.กนกวรรณ บุญญพิสิฎฐ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า อาการมือชา เท้าชา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตาบินบี 1 หรือโรคเหน็บชา หรือเกิดจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน แต่สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ หากชาที่หลังมือแต่ไม่เกินข้อมือ แสดงว่าเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขนด้านใน สาเหตุจากการนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้นานจนเกินไป แต่ถ้าอาการชาเลยมาถึงข้อมือ จะเกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้ หากชาตั้งแต่บริเวณแขนไป จนถึงนิ้วมือ เกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ ส่วนอาการชาฝ่าเท้า สาเหตุเกิดจากเส้นประสาทบริเวณ ตาตุ่มหรือบริเวณอุ้งเท้าถูกกดทับ การแก้ปัญหาควรจะลดการยืน หรือเดินนานๆ หากชาหลังเท้า และลามขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการนั่งในท่าที่ต้องพับขา เช่น ท่าขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือการนั่งไขว่ห้าง แต่ถ้าชาเป็นแถบจากสะโพกลงมาจนถึงข้อเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ซึ่งควรจะไปพบแพทย์ การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง แพทย์อาจให้กินยาแก้ปวด ลดการอักเสบ กินวิตามิน หากอาการยังไม่ทุเลาแพทย์จะฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็น หรือใช้วิธีการผ่าตัดรักษาโดยทั่วไปหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะดีขึ้น แต่อาการจะยังไม่หายสนิททั้งหมด เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับนาน ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ จึงจะกลับมาเหมือนปกติ เนื่องจากเส้นประสาทมีความซับซ้อนมาก การรักษาจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อคนไข้สามารถอธิบายอาการ หรือบริเวณที่ชาได้อย่างชัดเจน จะทำให้แพทย์วินิจฉัยตำแหน่ง และให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง สำหรับผู้ที่ต้องใช้ข้อมือมาก ๆ ควรสละเวลา 5 - 10 นาที เพื่อบริหารข้อมือ ด้วยวิธีการยกแขนสูงจนเสมอไหล่ เหยียดแขนตรงไปด้านหน้า กระดกข้อมือและนิ้วมือ ขึ้นจนข้อมือตั้งฉาก ค้างไว้นับ 1-5 ข้อมือและนิ้วเหยียดตรง ปล่อยตามสบายค้างไว้นับ 1-5 กำมือแน่น แล้วงอข้อมือลงให้มากที่สุดนับ 1-5 ข้อมือและนิ้วเหยียดตรง ปล่อยตามสบายค้างไว้นับ 1-5
|