ออกอากาศ : วันที่ 11 กรกฎาคม 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย-เยอรมัน
บทคัดย่อ: ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องไทย-เยอรมัน  เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2543 ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการจากประเทศเยอรมันนี  ทั้งในด้านการฝึกอบรมอาจารย์แพทย์ และเครื่องมือผ่าตัด โดยมีแพทย์และพยาบาลเข้ารับการฝึกอบรมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศมาแล้วมากกว่า 1,000 คน  รศ.นพ. อัมพัน  เฉลิมโชคเจริญกิจ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อธิบายว่า  จากเดิมที่ศูนย์ได้ดำเนินการผ่าตัดผ่านกล้องไทย-เยอรมันได้ให้การฝึกอบรมเฉพาะสูตินรีแพทย์ นับตั้งแต่ปี 2550 ทางศูนย์ได้พัฒนาเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่นๆ มาใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้  ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย-เยอรมัน” โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนและเครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องจากประเทศเยอรมันนีเพิ่มขึ้นรวมเป็น 9  ชุด ตลอดจนหุ่นจำลองเพื่อใช้ฝึกผ่าตัดผ่านกล้อง รวมมูลค่ามากกว่า 30  ล้านบาท ภายในศูนย์แห่งนี้  ประกอบด้วย  ชุดผ่าตัดผ่านกล้องภายในช่องท้อง จำนวน 9  ชุด  หุ่นจำลองฝึกผ่าตัดผ่านกล้อง ได้แก่ หุ่นช่องท้อง หุ่นโพรงมดลูก ข้อ เข่า และข้อสะโพก จำนวนอย่างละ 8 ชุด  และยังมีเตียงผ่าตัดที่ใช้กับสัตว์ทดลองอีกจำนวน  8  เตียง  ห้องบรรยาย  50  ที่นั่ง สามารถถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงทั้งจากห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศิริราชและจากห้องผ่าตัดจากที่อื่นโดยผ่านทาง Teleconference   ขณะเดียวกันยังมีห้องอาหารและห้องประมวลผลการผ่าตัดสอนให้ชมด้วย ในปัจจุบัน ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย-เยอรมันแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมผ่าตัดผ่านกล้องของประเทศไทย และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดผ่านกล้องประจำ 1 ใน 3 ของสมาคมผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย  ที่ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย-เยอรมัน จะช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง สำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดี คือ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่จะผ่าตัดได้ชัดเจน จากการดูด้วยกล้องขยายกำลังสูง  ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย บาดแผลมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวเร็ว และเกิดพังผืดน้อยกว่า  ทั้งลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้ดีกว่าแบบเดิม

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช