ออกอากาศ : วันที่ 13 มิถุนายน 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เตรียมพร้อมก่อนบริจาคโลหิต
บทคัดย่อ:

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยการบริจาคโลหิตถือเป็นการช่วยชีวิตที่มีคุณค่ามากที่สุด แต่ก่อนที่จะบริจาคโลหิตต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร รศ.พญ. ศศิจิต เวชแพศย์ ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด   อธิบายว่าการรับบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง โรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 350-450 ซีซี /คน  ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาคดังนั้นผู้บริจาคโลหิตต้องมีการเตรียมความพร้อม  โดยเริ่มต้นจากงดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย  24  ชั่วโมง  ควรดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนบริจาคโลหิต  เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี  ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ  4  ชั่วโมง   งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี ดื่มน้ำ 3-4  แก้ว และเครื่องดื่มเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการมึนงง  อ่อนเพลีย หรือ วิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต ขณะบริจาคโลหิตให้ทำตัวตามสบายและบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที  เมื่อบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ห้ามลุกขึ้นทันที ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี  จึงลุกไปดื่มน้ำและรับประทาน อาหารว่างที่จัดไว้ให้  หลังการบริจาคโลหิตให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ 1-2 วันรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือด ตับ เนื้อสัตว์  หรือยาธาตุเหล็กที่ได้รับจากแพทย์จนหมด  หลังจากนั้นร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ ทำให้ผู้บริจาคมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น การบริจาคโลหิตสำหรับผู้หญิงสามารถบริจาคได้ทุก 6 เดือน ส่วนผู้ชายบริจาคได้ทุก 3 เดือน  โลหิตที่ได้จากการบริจาคต้องผ่าน กระบวนการตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี  ไวรัสตับอักเสบซี  ซิฟิลิส และไวรัสเอดส์ ก่อนที่จะนำโลหิตไปให้กับผู้ป่วย  หากร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมที่จะให้โลหิต ขอเชิญชวนร่วมบริจาคโลหิตได้ ทุกวันที่ห้องรับบริจาคโลหิต ตึก 72 ปี ชั้น 3 รพ.ศิริราช       ข้อควรระวัง ในการบริจาคโลหิตไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรีย  ในระยะเวลา 3 ปี ไม่มีบาดแผลสด  หรือแผลติดเชื้อตามร่างกาย ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร  และไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ลมชัก  เป็นต้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช