ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งในเด็กดีขึ้นกว่าในอดีต ผศ.พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า โรคมะเร็งในเด็กมีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน การรักษาโรคมะเร็งในเด็กมีการรักษาหลักอยู่ 3 วิธี คือ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษาและการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเหล่านี้หรือมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี อาจพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ป่วยในแต่ละราย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งที่เป็นระยะของโรคและอายุของผู้ป่วย สำหรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูง และบางรายอาจต้องฉายรังสีทั่วร่างกาย เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งและทำให้เกิดที่ว่างในไขกระดูก จากนั้นแพทย์จะให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติ เพื่อเข้าไปแทนที่ในไขกระดูกและเพิ่มจำนวนสร้างเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทดแทนให้กับผู้ป่วยช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และสามารถใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้เต็มที่ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจใช้จากของตนเองเก็บแช่แข็งไว้ หรือใช้ของผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจากพี่น้องที่มีลักษณะพันธุกรรมของเม็ดเลือดขาวเข้ากันได้กับผู้ป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น สำหรับเด็กที่ได้รับการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้อื่นจะต้องได้รับ ยากดภูมิคุ้มกัน หลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดประมาณ 4-6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้บริจาคต่ออวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วย ระหว่างการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกต้องดูแลเรื่องของผลแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของการติดเชื้อมีการให้เลือดและเกร็ดเลือดเป็นระยะ นอกจากนี้ยังต้องดูแลภาวะโภชนาการและสภาวะทางจิตใจ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในปาก รับประทานอาหารไม่ได้ จึงอาจต้องได้รับสารอาหาร ทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย การรักษาโรคมะเร็งในเด็กด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในปัจจุบัน ผลการรักษาในประเทศไทยใกล้เคียงกับต่างประเทศแต่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก โดยแหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้น เก็บได้จากไขกระดูก หรือกระแสเลือด หรืออาจเก็บได้จากเลือดสายสะดือหลังทารกคลอด
|