ออกอากาศ : วันที่ 9 ตุลาคม 2548  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคขาดอาหารในเด็ก
บทคัดย่อ:       โรคขาดอาหารในเด็กพบบ่อยในทารกและเด็กก่อนวัยเรียน ศ.นพ.พิภพ  จิรภิญโญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  อธิบายโรคขาดสารอาหารในเด็กส่วนใหญ่มักพบกับเด็กที่พ่อแม่มีฐานะยากจน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น พ่อแม่ให้เด็กกินนมข้นหวานหรือน้ำข้าว เด็กได้อาหารเสริมช้าไปหรือไม่พอ เด็กมักเจ็บป่วยบ่อย เช่น ท้องเดิน ไข้หวัด ซึ่งมีผลทำให้เด็กขาดอาหารมากขึ้น  อาการของโรค ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรค เช่น ถ้าขาดอาหารไม่มาก เด็กอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติโดยเด็กยังดูแข็งแรงดี ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้าเด็กขาดแคลอรีอย่างมาก จะมีน้ำหนักน้อย ผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาลึก แก้มตอบ  ในกรณีที่เด็กขาดโปรตีนมาก จะมีอาการบวมมือและเท้า บางครั้งอาจบวมที่หน้าและบวมทั้งตัว น้ำหนักน้อยกว่า มีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร ผิวหนังมีสีกระดำกระด่าง อาจถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นฟอง ซึ่งถือเป็นภาวะรุนแรง เด็กอาจเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนได้  การรักษาทำโดย  การให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เช่น ให้เด็กกินนมแม่ และอาหารเสริมต่าง ๆ ถ้ามีโรคติดเชื้อร่วมด้วย แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ แต่ถ้ามีอาการติดเชื้อรุนแรงควรนำส่งโรงพยาบาลทันที  สำหรับการป้องกันโรคขาดสารอาหารในเด็ก คือ ควรให้ลูกกินนมแม่ และอย่าให้ลูกหย่านมเร็วเกินไป ให้อาหารเสริมอย่างเพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเด็ก หมั่นชั่งน้ำหนักตัวไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ และควรให้เด็กรับประทานอาหารครบ 5 หมู่

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช