ออกอากาศ : วันที่ 31 มกราคม 2553  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก
บทคัดย่อ: จากการที่โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อเอชพีวีที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกช่วยค้นหาโรคได้ ผศ.นพ.สมศักดิ์  ไหลเวชพิทยา  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาอธิบายว่า  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็เพื่อที่จะค้นหาความ ผิดปกติที่บริเวณปากมดลูก ซึ่งการตรวจทำได้ 2 วิธี แต่ละวิธีมีความแตกต่างกัน ดังนี้ วิธีที่ 1  เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก  วิธีนี้จะมีความไวสูงมาก แต่มีราคาแพง และยังทำได้ในสถานพยาบาลไม่กี่แห่ง วิธี่ที่ 2  เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ในกรณีที่พบเซลล์ผิดปกติ แพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาตามความรุนแรงที่ตรวจพบในปัจจุบัน การตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก สามารถทำได้ 2  วิธีคือ วิธีแรก เป็นการตรวจหาเซลล์แบบดั้งเดิม เรียกว่า แป๊ปเสมียร์  ซึ่งสถานพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้วิธีนี้  เนื่องจากมีราคาถูก  แต่ข้อเสียคือ  มีความไวค่อนข้างต่ำ มีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติที่มีอยู่ที่ปากมดลูกได้ส่วนอีกวิธีคือ การตรวจหาเซลล์ด้วยของเหลวที่เรียกว่า liquid-based cytology วิธีนี้มีความไวสูงกว่าวิธีแรก  นิยมใช้ในต่างประเทศและโรงพยาบาลเอกชนของไทย  แต่ราคาตรวจแพงกว่าการตรวจด้วยแป๊ปเสมียร์แบบเดิม 3-4 เท่า ซึ่งแพทย์พิจารณาเห็นว่าการตรวจด้วยวิธีนี้ดีสำหรับคนไข้   ฉะนั้นในช่วง 3  ปีที่ผ่านมา  ภาควิชาสูติศาสตร์ -นรีเวชวิทยา  จึงได้คิดค้นพัฒนาการตรวจหาเซลล์ผิดปกติด้วยของเหลวจนเป็นผลสำเร็จและ ใช้ชื่อว่า Siriraj liquid-based cytology   พบว่ามีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติได้ดีเช่นเดียวกับของต่างประเทศ และค่าตรวจก็แพงกว่าการตรวจด้วยแป๊ปเสมียร์เพียงเล็กน้อย ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชได้เปลี่ยนมาใช้การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยของเหลว เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต  นอกจากนี้ เราสามารถที่จะสำรวจร่างกายตนเองได้ โดยสังเกตความผิดปกติที่จะเป็นสัญญาณบอกเหตุการเกิดโรคมะเร็ง  หากพบว่ามีเลือดออกหรือมีการตกขาวมากเกินไป  มีก้อนหรือตุ่มที่ร่างกายและมีการโตเร็วผิดปกติ  มีแผลเรื้อรัง การขับถ่ายผิดปกติเสียงแหบ  ไอเรื้อรัง  หูด ไฝ ปานโตผิดปกติ  สัญญาณเหล่านี้บอกเหตุเกิดโรคมะเร็งได้  ควรปรึกษาแพทย์ทันที

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช