ออกอากาศ : วันที่ 20 ธันวาคม 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เมื่อข้อสะโพกเสื่อม
บทคัดย่อ:

ข้อสะโพกเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายหากคุณรู้สึกเดินขัดๆ  ฝืดๆ บริเวณสะโพก  นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า จะเกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อม รศ.นพ.กีรติ  เจริญชลวานิช  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด  อธิบายว่า  ข้อสะโพกเป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา  ทำหน้าที่งอเหยียดเวลานั่ง เดิน ยืน เมื่อใช้งานเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการสึกของผิวข้อและหัวกระดูกต้นขา  ปัญหาข้อสะโพกที่พบ ส่วนมากเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงกระดูกต้นขา  การได้รับยาสเตียรอยด์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก ข้อสะโพกเสื่อมตามอายุและการใช้งานหรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุ  วิธีการรักษาข้อสะโพกเสื่อม  ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ  การให้ยา การใช้อุปกรณ์ประคองการเดิน การส่องกล้องล้างข้อสะโพก การผ่าตัดเปลี่ยนแนวแกนกระดูก หรือในขั้นสุดท้าย คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม  ในปัจจุบันได้นำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ชนิด MIS THA มารักษาผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดอาการช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณข้อสะโพกในระหว่างการผ่าตัด  และแผลผ่าตัดยังเล็กด้วย  เทคนิคการผ่าตัด MIS THA มีหลายวิธี  ได้แก่  mini posterior approach,   mini anterior approach,  anterolateral  MIS THA และ nano hip surgery  นอกจากนี้ยังมีการนำผิวสัมผัสข้อเทียมที่มีความคงทนและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นมาเป็นทางเลือกในการผ่าตัด รวมทั้งยังสามารถผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของข้อสะโพกโดยไม่ต้องตัด กระดูกหัวสะโพกออก ข้อดีคือสามารถเก็บรักษากระดูกหัวสะโพกและกระดูกต้นขาไว้ใกล้เคียงปกติ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โอกาสข้อสะโพกหลุดก็จะลดลง  เมื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเสร็จแล้ว  แพทย์จะให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการฝึกเดินกับไม้ค้ำยัน เพื่อให้กล้ามเนื้อและแผลสมานกันเป็นอย่างดี จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็จะเดินได้ตามปกติ โดยในช่วงแรก ๆ จะมีการใช้ยาช่วยบ้างตามสมควร แม้จะเดินได้คล่องเหมือนเดิมโดยไม่มีอาการเจ็บปวด  แต่วิธีที่ดีที่สุด คือการรักษาข้อสะโพกให้เสื่อมช้าลง การดูแลต้องลดแรงกระทำที่มีต่อข้อสะโพก เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ พับเพียบ หลีกเลี่ยงการแบกของหนัก  ลดแรงกระเทือน ทั้งจากการเล่นกีฬาหนัก ๆ รวมทั้งระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุที่ก่อให้ข้อสะโพกหลุด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช