ออกอากาศ : วันที่ 29 พฤศจิกายน 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
บทคัดย่อ: ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉลี่ยจะอยู่ได้นาน 8-10 ปี ทำให้ผู้ดูแลต้องรับหน้าที่หนักหลายด้าน มาทำความรู้จักกับโรค เพื่อรู้วิธีที่จะดูแลผู้ป่วย ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบายว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมอง จนทำให้สมองทำหน้าที่ลดลงและเหี่ยวไป ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม ความสามารถในการคิดและตัดสินใจแย่ลง การใช้ภาษาผิดปกติ มีพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป จนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานและชีวิตประจำวัน ปัจจุบันไม่มียารักษาให้หายขาด เพียงแต่ช่วยลดอาการของโรคได้ การักษาจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยโดยทั่วไป ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเดียวกันในผู้ป่วยทุกรายได้ ดังนั้นผู้ดูแลและครอบครัวควรหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด ผู้ดูแลผู้ป่วย ควรทำความเข้าใจภาวะของโรคอัลไซเมอร์ให้ดี เพื่อหาวิธีที่จะรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยมักมีหลายปัญหาร่วมกัน ผู้ดูแลจึงควรแก้ไขอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดก่อน ซึ่งจะทำให้การดูแลคนไข้ง่ายขึ้น การดูแลคนไข้อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ผู้ดูแลควรได้รับการพักผ่อนเพียงพอ ถ้าผู้ดูแลอารมณ์ดีจะมีผลต่อการดูแลคนไข้ พยายามจัดรูปแบบการดูแลให้มีเวลาคงที่ ทำด้วยวิธีเดิม ๆ ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ปรับเปลี่ยนสิ่งของรอบตัวให้เรียบง่าย ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เรียนรู้ได้เอง พูดสื่อสารด้วยคำอธิบายสั้น ๆ และควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ติดป้ายชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ป้องกันผู้ป่วยเดินออกนอกบ้านโดยไม่รู้ตัว หากิจกรรมให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อให้เขารู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย หวังว่าคนในครอบครัวจะดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้วยความเข้าใจ อดทน ใจเย็น และให้อภัยกับผู้ป่วย การปฎิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยป้องกันความจำเสื่อมได้หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง ฝึกฝนให้สมองได้คิดบ่อย ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกไปพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ้าง ฝึกสมาธิ มีสติในสิ่งที่กำลังทำ หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด เหล่านี้นำไปปฏิบัติจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช