ออกอากาศ : วันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
เมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม |
บทคัดย่อ:
|
ผู้หญิงที่คลำพบก้อนที่เต้านม หลายคนมีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่เต้านม หากคลำพบไม่เจ็บคงไม่เป็นไร เลยปล่อยทิ้งไว้จนก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นจึงมาพบแพทย์ อ.ดร.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า ก้อนที่เต้านม อาจเป็นก้อนที่เป็นถุงน้ำหรือซีสต์ หรือก้อนเนื้อก็ได้ ถุงน้ำหรือ ซีสต์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน ก้อนซีสต์จะโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนหมด ส่วนใหญ่ของก้อนซีสต์ไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เจ็บได้ ส่วนก้อนที่เป็นเนื้ออาจเป็นได้ทั้งที่เป็นเนื้อดี หรือ เนื้อร้าย ก้อนที่ไม่ใช่เนื้อร้าย มักเจอในคนอายุน้อย ส่วนก้อนที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งเต้านมมักพบในคนอายุมากตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป และมักจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด การตรวจก้อนที่ เต้านมสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ผู้หญิงทุกคนที่อายุเกิน 20 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง ในช่วงหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว 7-10 วัน ก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะแข็งและอาจทำให้เต้านมบุ๋ม มีแผล เลือดหรือน้ำเหลืองออกที่หัวนม หรืออาจคลำพบก้อนที่บริเวณรักแร้ร่วมด้วย ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านมและ คลำพบก้อน จะรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจให้มั่นใจ ผิดกับผู้ที่คลำพบก้อนที่เต้านมแล้วไม่รู้สึกเจ็บ มักปล่อยไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นไร สำหรับการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ขนาดเล็กและยังคลำไม่พบ ทำให้ผลการรักษาได้ผลดี วิธีที่ดีที่สุด ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ พบก้อนอย่าปล่อยไว้ มะเร็งเต้านมหากตรวจพบเริ่มแรกรักษาได้ ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง การป้องกันทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เส้นใยน้อย รวมทั้งอาหารดองเค็ม ปิ้ง ย่าง รมควันออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน และสุดท้ายงดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
|
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|