ออกอากาศ : วันที่ 15 พฤศจิกายน 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ควบคุมโรคเท้าช้าง
บทคัดย่อ: โรคเท้าช้างเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ และการแพร่ระบาดยังคงมีอยู่ มาตรการป้องกันเพื่อควบคุมโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทยทำได้อย่างไร รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย ภาควิชาปรสิตวิทยา อธิบายว่า โรคเท้าช้าง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากพยาธิตัวกลม และมียุงเป็นพาหะนำโรค แหล่งระบาดจะอยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพม่าซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา และจังหวัดทางภาคใต้ที่มีสภาพเป็นป่าพรุ ปัจจุบันยังคงพบผู้ป่วยโรคเท้าช้างหลงเหลืออยู่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดตาก กาญจนบุรี และนราธิวาส จะมีผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุด เนื่องจากมีป่าพรุขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค เมื่อถูกยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างกัด พยาธิจะเข้าไปอาศัยในระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบและท่อน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรัง ส่งผลให้แขนขาหรืออวัยวะเพศบวมโต หากไม่ได้รับการรักษา จะเกิดความพิการถาวร คือ ผู้ป่วยจะมีลักษณะเท้าโตผิวหนังหนา หยาบกร้าน ขรุขระ ลักษณะคล้ายเท้าช้าง มาตรการควบคุมโรค จะเน้นให้การรักษาคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งแพร่เชื้อ รวมทั้งในแรงงานต่างด้าวชาวพม่า เนื่องจากในระยะแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการใด ๆ ดังนั้นการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อ ต้องทำโดยเจาะเลือดเพื่อตรวจหาตัวอ่อนของพยาธิเท้าช้างที่อยู่ในกระแสเลือด เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะให้การรักษาด้วยการให้กินยาฆ่าพยาธิ การเจาะเลือดต้องทำในเวลากลางคืนจึงจะตรวจพบพยาธิ เวลากลางวันจะตรวจไม่พบเชื้อ เพราะในเวลากลางวัน พยาธิจะหลบไปอยู่ที่เส้นเลือดฝอยที่ปอด จึงเป็นปัญหาในการควบคุมโรคเท้าช้าง โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้ยากต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการควบคุมโรคทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไม่หมดไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างให้ใช้งานง่าย ได้ผลดี มีราคาถูก สามารถให้อาสาสมัครสาธารณสุขทำการเจาะเลือดได้ ที่สำคัญคือสามารถเจาะเลือดตรวจในเวลากลางวันได้ จึงเหมาะกับการใช้งาน โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส และกรณีผู้ป่วยมีเชื้อพยาธิอยู่ในกระแสเลือดจำนวนน้อยก็สามารถตรวจพบ นับเป็นความสำเร็จของทีมวิจัย ก้าวต่อไปคือการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรค รู้ผลได้เร็วภายใน 5 นาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมและกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไป สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งระบาด ควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งลวด ทายาไล่ยุงตามร่างกายเมื่อต้องเข้าไปในแหล่งที่มียุงชุม ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุง กำจัดลูกน้ำป้องกันยุงวางไข่

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช