ออกอากาศ : วันที่ 25 ตุลาคม 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
บทคัดย่อ:

ผู้ที่ยกของหนัก ทำงานนั่งนานๆ เล่นกีฬาที่ต้องออกแรงผ่านหลังมากๆ  การใช้หลังผิดท่าทางอาจนำมาซึ่งโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ รศ.รอ.นพ.ชลเวช  ชวศิริ  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด  อธิบายว่า หมอนรองกระดูก เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างเป็นวงกลม ลักษณะขอบเป็นพังผืดเหนียว ภายในมีของเหลวคล้ายเจล คั่นอยู่กลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ  หน้าที่ของหมอนรองกระดูกเปรียบได้กับโช้คอัพ รองรับแรงกระแทกให้กระดูกสันหลังของเรา หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ของเหลวในหมอนรองกระดูกมีโอกาสที่จะทะลัก ออกมากดทับเส้นประสาท  ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง  เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับจะเกิดการอักเสบ หากเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมโยงกับขาจะมีอาการปวดร้าวที่ขา บางรายมีอาการชาตั้งแต่เอวร้าวลงขาหรือหลังเท้า ทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และอาจต้องสูญเสียการควบคุมระบบขับถ่ายได้ในที่สุด การบำบัดโรค  แพทย์จะให้การรักษา โดยเริ่มจาก การกินยาระงับปวด เพื่อลดการอักเสบ  การทำกายภาพบำบัด  และการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  สำหรับการป้องกันหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย คือ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เปลี่ยนอิริยาบถท่านั่ง หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง โดยท่าบริหารเสริม  กล้ามเนื้อหลัง สร้างกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรง  ท่าแรกคือ นอนหงายยกขาข้างหนึ่งสูงจากพื้น  1 คืบ เข่าเหยียดตรง กระดกปลายเท้าเข้าหาตัวท่าที่ 2 นอนหงาย ใช้มือข้างหนึ่งกอดเข่า โน้มเข่าลงมาชิดลำตัว  และท่าที 3  นอนหงาย ชันเข่าขึ้น ประสานมือด้านหลัง บริเวณเอว แขม่วท้องกดหลังลง แต่ละท่าทำ 3 - 5 ครั้งทุกเช้าเย็น ทำอย่างสม่ำเสมอ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช