มีโรคอยู่โรคหนึ่งที่พบเฉพาะในหญิงสูงอายุ ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว มักมีความอาย ไม่กล้าให้หมอตรวจ โรคที่ว่านี้คือ กระบังลมหย่อน รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อธิบายว่า เคยสงสัยหรือไม่ว่า เวลาที่เรายืน อวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง เช่น ลำไส้ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ทำไมจึงไม่ไหลลงมากองที่หว่างขา นั่นเพราะว่า เรามีกล้ามเนื้อกระบังลมที่มีลักษณะคล้ายเปลญวณคอยพยุงเอาไว้ บางบริเวณของกล้ามเนื้อกระบังลมจะมีรู เพื่อให้อวัยวะบางอย่างได้แก่ช่องคลอด ท่อ ปัสสาวะและรูทวารหนักผ่านออกมาได้ ซึ่งปกติกล้ามเนื้อกระบังลมจะมีความทนทานมาก แต่ถ้าสตรีใดผ่านการคลอดลูกทางช่องคลอดมาหลายครั้ง อาจทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมหย่อนยาน อาการมักเกิดขึ้นเมื่ออายุมากแล้ว เนื่องจากขาดฮอร์โมนจากรังไข่มาช่วยคงความแข็งแรง สตรีที่มีปัญหากระบังลมหย่อน จะมาพบแพทย์ด้วยอาการต่างกัน เช่นรู้สึกถ่วงในช่องคลอด บางรายมีก้อนซึ่งก็คือมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอด มีปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือถ่ายอุจจาระลำบากร่วมด้วย นอกจากนี้โรคกระบังลมหย่อนอาจทำให้มีอาการเจ็บที่ปีกมดลูก หรือปวดถ่วงท้องน้อยเหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่ปากช่องคลอด กลัวว่าจะมีอะไรหลุดออกมา การรักษา ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ช่องคลอดหย่อนเล็กน้อย ให้บริหารกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบก้นบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมมีการหดรัดตัว แข็งแรงขึ้น ในรายที่กระบังลมหย่อนมาก ผนังช่องคลอดโผล่ให้เห็นที่ช่องคลอด ต้องทำการผ่าตัดที่เรียกว่ารีแพร์ เป็นการตัดเนื้อเยื่อผนังช่องคลอดส่วนที่หย่อนยานทิ้งแล้วเย็บส่วนที่เหลือเข้าหากัน หรือทำการผ่าตัดมดลูกทิ้งผ่านทางช่องคลอดในผู้ป่วยที่มีมดลูกโผล่ออกมา ถ้ามีปัสสาวะเล็ดร่วมด้วย แพทย์จะใช้สลิงที่ทำจากวัสดุทางการแพทย์คล้องใต้ท่อปัสสาวะ รักษา หลังผ่าตัดสตรีที่มีปัญหากระบังลมหย่อนจะหายจากอาการต่าง ๆ ที่เป็น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สำหรับเทคนิคการบริหารเสริมความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยวิธีการขมิบ คือ นั่งบนเก้าอี้ ยืดตัว แขม่ว ท้อง เกร็งกล้ามเนื้อช่องคลอดให้เต็มที่ ขมิบก้นนาน 5 วินาที แล้วปล่อยตัวตามสบาย อีกท่านอนหงาย ชันขา แขม่วท้อง ยกสะโพก พร้อมขมิบก้นสามารถทำได้ระหว่างการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ขมิบก้นให้ได้ 100 ครั้งต่อวัน
|