ออกอากาศ : วันที่ 6 กันยายน 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เมื่อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
บทคัดย่อ:

 ภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นโรคที่พบมากในชาวเอเชีย เกิดได้ทั้งหญิงและชาย  ผู้ที่ประสบภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีก จนทำให้สูญเสียความมั่นใจ การรักษาทำได้อย่างไร  ศ.นพ.นิพนธ์  พวงวรินทร์  ภาควิชาอายุรศาสตร์  อธิบายว่า  สาเหตุของโรคยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่อาการมักเริ่มจากตาเขม่น อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใต้ลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นอาจเป็นมากขึ้นจนทำให้เกิดการกระตุกที่มุมปากและในที่สุดจะมีการกระตุกทั้งซีกบริเวณใบหน้า จนทำให้ตาตี่หรือตาหลิ่วและปากเบี้ยวเป็นพัก ๆ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มีภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นมากขึ้น ได้แก่  การอดนอน  ความเครียด  ความวิตกกังวล และผู้ที่มีการใช้สายตามากติดต่อกันเป็นเวลานาน  การวินิจฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเหมือนเช่นการตรวจสมอง เพราะการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สแกนสมองหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามักจะไม่พบอาการทำให้หลายคนกังวลว่าโรคนี้  อาจเกิดจากเนื้องอกสมองหรือมีความผิดปกติที่ร้ายแรง ความจริงแล้วผู้มีภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีกจะไม่มีอาการของโรครุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ ขาดความมั่นใจจนเกิดเป็นปมด้อยเท่านั้น  แม้ปัจจุบันจะยังไม่รู้สาเหตุของโรคแต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีหลอดเลือดบริเวณก้านสมองที่ผิดปกติไปแตะอยู่บนประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ทำให้มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามากเกินไป ทำให้ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก แต่ก็ไม่เสมอไป การผ่าตัดอาจทำให้หายได้ชั่วคราวและอาการมักกลับมาเป็นอีกภายหลัง  แนวทางการรักษามีหลายวิธี  เช่น  การใช้ยากล่อมประสาท การผ่าตัด และการฉีดสารโบทูลินัมซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งสร้างจากเชื้อแบคทีเรีย  ขณะนี้เป็นการรักษาที่ดีที่สุด โดยผู้ป่วยต้องมาฉีดสารโบทูลินัมทุก ๆ 3-6 เดือน  การรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีใด หากผู้ป่วยทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนเพียงพอ  ออกกำลังกาย ลดการใช้สายตาและผ่อนคลายความเครียดอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช