ออกอากาศ : วันที่ 23 สิงหาคม 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ออกกำลังกาย ฟื้นฟูถูกตัดขาจากเบาหวาน
บทคัดย่อ:

ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานที่ต้องถูกตัดขา ถ้าไม่ดูแลตนเอง อาจทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะอื่นตามมา ฟังวิธีฟื้นฟูผู้ถูกตัดขาจากเบาหวานด้วยการออกกำลังกายกัน อ.พญ.วิลาวัณย์  ถิรภัทรพงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู  อธิบายว่า นอกจากเบาหวานจะทำให้เกิดความบกพร่องของระบบหลอดเลือดแล้ว ยังทำให้เกิดความบกพร่องของระบบประสาทส่วนปลายและระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายเท้า  อาการชาที่เกิดขึ้น ทำให้เวลาเป็นแผลจึงไม่รู้ตัว กว่าจะรู้แผลก็มีขนาดใหญ่  เกิดแผลติดเชื้อง่าย กลายเป็นแผลเรื้อรัง การรักษายาก หากเกิดเนื้อตายจากหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน อาจนำไปสู่การรักษาด้วยการตัดนิ้วเท้า ตัดเท้าหรือขาในที่สุด  การดูแลตนเองนอกจากการควบคุมอาหาร การรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นส่วนสำคัญของการรักษาและฟื้นฟูสภาพ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  ก่อนออกกำลังกายควรมีการทดสอบ โดยใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายพร้อมมีการติดตามการทำงานของหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจระหว่างการทดสอบ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้  ระหว่างการออกกำลังกาย  ผู้ป่วยที่ใส่ขาเทียมและทรงตัวได้ดี แนะนำให้เดินหรือปั่นจักรยานขา แต่ถ้ายังทรงตัวไม่ได้ให้ใช้การปั่นจักรยานแขน หรือแกว่งแขนแทน  ระดับในการออกกำลังกายควรเริ่มจากระดับเบาแล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาและความหนักเพิ่มขึ้นจนได้ความเหนื่อยในระดับปานกลาง และสามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่อง 20-30 นาที  สัปดาห์ละ 3 - 5 วัน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานการออกกำลังกายหลังรับประทานอาหาร 1 ถึง 2 ชั่วโมง  สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า พกพาลูกอม น้ำผลไม้ น้ำไปด้วยเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และไม่ควรฉีด  อินซูลินบริเวณกล้ามเนื้อแขนหรือขาที่ออกกำลัง โดยอาจเปลี่ยนไปฉีดที่บริเวณหน้าท้องแทน และให้ผ่อนเครื่องหลังออกกำลังกายทุกครั้ง ควรคำนึงถึงสภาพร่างกาย ความชอบ และความชำนาญ หากทำได้สม่ำเสมอสุขภาพจะแข็งแรง คลายเครียด ลืมความทุกข์และนอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช