การที่เด็กคนหนึ่งซนมาก อยู่ไม่สุข เบื่อง่าย ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จ ใจร้อน หงุดหงิดง่าย รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ได้พฤติกรรมเหล่านี้ บอกให้รู้ว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่และครู ควรปฏิบัติกับเด็กอย่างไร รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ อธิบายว่า โรคสมาธิสั้นหรือโรคไฮเปอร์ คือกลุ่มอาการที่เกิดในวัยเด็ก ก่อนอายุ 7 ปี ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะมีพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะโดยสังเกตได้ว่า เด็กขาดสมาธิ มักให้ความสนใจอะไรสั้นๆ ขี้เบื่อ จิตใจ วอกแวกง่าย ทำงานไม่เรียบร้อย ไม่รอบคอบ มีความบกพร่องของพฤติกรรม เด็กจะไม่อยู่นิ่งและควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เสียงดังพูดไม่หยุด เวลานั่งเก้าอี้ชอบโยกไปโยกมา ใจร้อน รอคอยไม่เป็น ชอบขัดจังหวะเวลาผู้อื่นคุยกันสาเหตุของโรคสมาธิสั้น เกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วนมีการทำงานน้อยกว่าปกติ ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อีกสาเหตุเกิดจากแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดระหว่าง ตั้งครรภ์ หากเด็กแสดงพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นเด็กสมาธิสั้น ให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อทำการวิจัยอย่างละเอียด โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาได้ โดยการปรับสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ให้ความรักแลเอาใจใส่ดูแลเด็กมากขึ้น เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน พี่น้อง ดื้อกับ พ่อแม่ ครู ไม่มีระเบียบวินัย หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ใช้วิธีการดุ ลงโทษจะทำให้อาการของเด็กแย่ลง เด็กจะดื้อมากขึ้น แสดงการต่อต้าน ก้าวร้าว วิธีที่ควรทำคือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ ด้านการเรียน โรงเรียนควรจัดการเรียนและสิ่งแวดล้อมในห้องให้เหมาะสมเช่น ห้องเรียนต้องสงบ กำหนดกิจกรรมให้เด็กทำอย่างชัดเจนและดูแลเรื่องการเรียนเป็นพิเศษ ช่วยเด็กสมาธิสั้นเรียนได้ดีขึ้น ปรึกษาจิตแพทย์ และแพทย์ เพื่อนำแนวทางไปปฏิบัติ ฝึกเด็กให้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนส่วนที่บกพร่อง การทำความเข้าใจ เรียนรู้ปัญหาของเด็กสมาธิสั้น จะทำให้การดูแลเด็กเป็นไปในทางที่ถูกต้อง อีกทั้งยังทำให้เด็กมีความมั่นใจ พร้อมที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในสังคม สำหรับเทคนิคการสร้างความมั่นใจในเด็ก สมาธิสั้นใช้การกอดรัดสัมผัสจากพ่อแม่ ช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยไม่คิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง การมีเวลาให้แก่กัน ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยถึงสิ่งที่ดีขึ้นด้วยการชมเชยจะทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจและไม่รู้สึกว่าถูกจับผิด
|