ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ถ้าไม่ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ให้ดี อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้ออะแคนทะมีบาที่ทำให้ตาบอดได้ ศ.พญ.พนิดา โกสียรักษ์วงศ์ ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า เชื้ออะแคนทะมีบา คือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เป็นโปรโตซัวแบบเซลล์เดียวที่สามารถทนอยู่ได้นาน ในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เชื้ออะแคนทะมีบามีฤทธิ์ทำลายดวงตาได้ ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์จึงต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบา เป็นสาเหตุสำคัญของกระจกตาอักเสบ หากติดเชื้อจะทำให้ปวดตามาก สู้แสงไม่ได้ กระจกตาขุ่น ฝ้า เกิดแผลอักเสบที่กระจกตา การรักษาต้องให้จักษุแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนใช้ยาฆ่าเชื้อหยอดตาที่แพทย์จัดให้ โดยต้องหยอดตาบ่อย ๆ เป็นเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี พร้อมเฝ้าติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ดวงตาไม่ตอบสนองต่อยาหยอดตา เชื้ออาจลุกลามไปทั่วกระจกตา มีอาการอักเสบมาก จักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้ แต่ก็สามารถกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีก เนื่องจากเอากระจกตาส่วนที่มีรอยโรคออก แต่ส่วนที่ดูว่าใสยังอาจมีเชื้ออยู่ ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรระมัดระวังในการทำความสะอาดล้าง คอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี เพราะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ดวงตาได้ง่ายมาก ผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบ ตาแห้ง เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาทำความสะอาดล้างเลนส์ ไม่แนะนำให้ใส่คอนแทคเลนส์จะปลอดภัยกว่า นอกจากนี้แล้วถ้าคอนแทคเลนส์หล่นลงพื้นอย่านำมาใช้อีก เนื่องจากเสี่ยงกับการติดเชื้อได้ การดูแลรักษาความสะอาดเลนส์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่นเดียวกับการใส่ ควรศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการใส่คอนแทคเลนส์ได้ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจใส่ คอนแทคเลนส์ควรให้จักษุแพทย์ตรวจตาให้ละเอียด เพื่อหาความผิดปกติ หรือความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยให้เลือกชนิดและขนาดของคอนแทคเลนส์ได้ เหมาะกับดวงตา และเมื่อคิดจะใส่คอนแทคเลนส์ ก็ต้องรู้วิธีที่จะดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ ควรล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนทำความสะอาด คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ และขัดถูคอนแทคเลนส์ทั้งสองด้าน พร้อมขัดถูตลับแช่เลนส์ทุกครั้งก่อนแช่ และเปลี่ยนน้ำยาแช่เลนส์ทุกวันรุ่งเช้าก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ควรล้างน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ ออกด้วย น้ำเกลือสะอาดปราศจากเชื้อแบบขวดเล็กสุดให้หมดขวดในครั้งเดียว จะดีกว่าใช้ขวดใหญ่เพื่อประหยัด แต่มีผลเสียจากเชื้อโรคในอากาศอาจเข้าไปเจริญเติบโตในขวดน้ำเกลือได้
|