ช่วงนี้ฝนตกหนักเกือบทุกวัน อาจทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หากต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำสกปรก อาจทำให้เกิดเชื้อราที่เท้า อ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช ภาควิชาตจวิทยา อธิบายว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือเชื้อราที่เท้าเป็นอาการของการติดเชื้อราที่เท้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเดินลุยน้ำสกปรกหรือเดินเท้าเปล่า ตามพื้นดินแฉะ ๆ โรคน้ำกัดเท้า ในระยะแรกที่ยังไม่มี เชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง คันและอักเสบ การรักษาใช้เพียงยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา แต่ถ้าปล่อยเท้าให้เปื่อยจนเป็นแผล เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำ จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด เชื้อราที่เท้าเมื่อเป็นแล้ว จะหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดี แต่เชื้อราก็จะยังคงหลงเหลืออยู่ หากปล่อยให้เท้าอับชื้น เชื้อราจะลุกลามขึ้นมาใหม่ ทำให้มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ การรักษาความสะอาดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ โดยการล้างน้ำฟอกสบู่และเช็ดเท้าให้แห้ง เน้นความสะอาดที่บริเวณซอกนิ้วเท้าเป็นพิเศษ เมื่อเช็ดแห้งแล้ว ให้ทายารักษาโรคเชื้อรา กรณีที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายารักษาไม่ได้ผล ควรมาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง การรักษาโรคเชื้อราที่เท้า ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น เพราะหากหยุดยาเร็วเกินไปโดยที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับมาเป็นเชื้อราที่เท้าได้อีก ความชื้นจะทำให้เชื้อรา เจริญเติบโตได้ดี ถึงจะไม่ได้ย่ำน้ำก็ต้องดูแลเท้าให้สะอาดและปลอดภัย ด้วยการสวมรองเท้าแตะเมื่ออยู่ในที่ชื้นแฉะ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น และไม่ใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน
|