ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวแบบ palliative care จะเป็นอย่างไรนั้น ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า Palliative care เป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้รวมทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถเผชิญกับความเจ็บป่วย ความทุกข์ และมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักการของ palliative care คือ การช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับว่า ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญไม่มีใครหนีพ้น การยอมรับจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสติและมองเห็นเวลาที่เหลืออยู่เป็นโอกาส ทำในสิ่งที่อยากทำ Palliative care จึงมีความหมายมากต่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเอดส์ ทารกแรกคลอดที่พิการแต่กำเนิดและคาดว่าจะมีชิวิตอยู่ไม่นาน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย palliative care จะช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า การดูแลแบบ palliative care จะมุ่งยืดชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้นานที่สุด หรือถ้าต้องทนทุกข์ ทรมานมากก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่ในความเป็นจริง palliative care เน้นความสำคัญของการทำให้ช่วงเวลาที่เหลือน้อยมีคุณค่ามากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างมีความหมายมากที่สุดจนถึงวันที่จากไป การดูแลผู้ป่วยแบบ palliative care แพทย์และพยาบาลมีบทบาทหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การแจ้งข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยและครอบครัว วางเป้าหมายการรักษาร่วมกับ ผู้ป่วยและญาติ ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม ให้คำแนะนำผู้ป่วย ตัดสินใจเลือกการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนการประคับประคองใจของผู้ป่วยและญาติ ดูแลญาติด้านจิตใจ ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเผชิญกับความทุกข์ ความเจ็บป่วยและการสูญเสียได้ นอกจากการรักษา การดูแลด้านจิตใจแล้ว palliative care ของ รพ.ศิริราช ได้จัดให้มีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการอาสาสมัครรับฟังความทุกข์ เล่นดนตรี สอนวาดภาพ การใส่บาตรและการฝึกสมาธิผ่อนคลายผู้ป่วยและครอบครัวอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า palliative care คือการให้ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยเฉพาะอาสาสมัคร palliative care ต้องทำงานเป็นทีม ต้องมีทักษะในการพูด การฟัง มีเมตตา กรุณาอุเบกขา และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีสติ
|