ออกอากาศ : วันที่ 17 พฤษภาคม 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เมื่อต้องใส่ข้อเทียม
บทคัดย่อ:

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อวัยวะส่วนต่าง ๆ มักจะเสื่อมสภาพตามไปด้วยโดยเฉพาะกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ หากข้อเข่าเสื่อมถึงขั้นรุนแรง จะรักษาได้ด้วยวิธีไหน รศ.นพพัชรพล  อุดมเกียรติ  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิคิคส์ และกายภาพบำบัด อธิบายว่า  ในร่างกายของคนเรา มีส่วนที่เป็นข้อต่อหลายแห่ง เช่น ข้อตะโพก ข้อศอก ข้อเข่า โดยการเสื่อมของข้อเข่าพบมากสุด สาเหตุอาจมาจากข้อเข่ารองรับน้ำหนักมากเกินไป เช่น ผู้มีน้ำหนักตัวมาก  ผู้ที่ต้องแบกของหนักเป็นประจำ  หรือเกิดการกระทบกระแทกแรง ๆ อีกสาเหตุมาจากท่าทางที่ทำให้มีแรงผ่านข้อเข่ามาก ได้แก่ การงอเข่านาน ๆ นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ หรือขึ้นลงบันไดบ่อย รวมทั้งในผู้ที่กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง ทำให้มีแรงผ่านข้อเข่ามาก เมื่อเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง การรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนมาใช้ข้อเทียม ซึ่งการใส่ข้อเทียมไม่จำเป็นต้องตัดกระดูกข้อที่เสื่อมทิ้งแล้วใส่ข้อเทียมไปทั้งท่อน  แต่การรักษา คือ การนำข้อเทียมเข้าไปครอบกระดูกที่เสื่อมไว้ คล้ายกับการครอบฟันเมื่อฟันผุซึ่งกระดูกเดิมก็ยังคงอยู่ การใส่ข้อเข่าเทียมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2  ชนิดใหญ่ ๆ  ได้แก่  ข้อเข่าเทียมชนิดหมุนได้ เป็นข้อเข่าเทียมที่มีพลาสติกรองข้อเทียมที่สามารถหมุนได้ เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย   นักกีฬา ส่วนข้อเข่าเทียมชนิดหมุนไม่ได้ต่างกันเพียงพลาสติกรองข้อเทียมจะอยู่นิ่ง ๆ แต่ผลที่ได้ไม่แตกต่างกันมากนัก ผู้ป่วยสามารถพับงอและเหยียดขาได้เช่นเดียวกัน มีข้อเข่าเทียมอีกชนิด ซึ่งมีชิ้นส่วนข้อเข่า เทียมเพียง  3  ชิ้น เหมาะสำหรับผู้สูงอายุมาก ๆ ที่ไม่มีการใช้งานข้อเข่ามากนัก และมีราคาถูกสุด หลังการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยสามารถเดินได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับการป้องกันข้อเสื่อม ต้องระวังอย่าปล่อยให้อ้วน อย่าให้ข้อได้รับแรงกระแทกเกินไป  หลีกเลี่ยงการงอเข่า ห้ามนั่ง ยองๆ พับเพียบขัดสมาธิ เป็นเวลานาน  ไม่ควรขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ  และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช