การนอนกรนเป็นความผิดปกติของการนอนหลับ บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า ผู้นอนกรน จะมีช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ เวลานอนหงายและหลับสนิท ลมหายใจที่ผ่านบริเวณช่องแคบ ดังกล่าว จะเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดเสียงกรน การนอนกรน พบว่าผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง และจะเป็นมากขึ้นตามอายุ อาการนอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การนอนกรนธรรมดา ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กับการนอนกรนที่เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตมีผลต่อสุขภาพ การแก้ไขปัญหานอนกรน แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค โดยมีแนวทางใหม่ในการรักษา ได้แก่ วิธีที่ไม่ผ่าตัด โดยการใช้เครื่องครอบฟันสวมใส่ปากขณะหลับ เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่ออ่อนในลำคอตกลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ช่วยให้การนอนกรนลดลง อีกวิธี คือการผ่าตัดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ เป็นการนำเข็มพิเศษเข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล โคนลิ้น หรือเยื่อบุจมูก วิธีนี้จะทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธี การฝังพิลลาร์ เข้าไปในเพดานอ่อนในปาก โดยไม่ได้ตัดหรือทำลายเนื้อเยื่อ พิลลาร์จะช่วยลดการสั่นสะเทือน หรือการสะบัดของเพดานอ่อนและพยุงไม่ให้เพดานอ่อนในปากปิดทางเดินหายใจได้โดยง่าย วิธีนี้จะทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หายใจสะดวกขึ้น อาการนอนกรนลดน้อยลง การรักษาอาการนอนกรน ด้วยวิธีใช้คลื่นความถี่วิทยุและการฝังพิลลาร์แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกรน สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายและกล้ามเนื้อแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการนอนหงายโดยพยายามนอนในท่าตะแคงข้างและนอนศีรษะสูงเล็กน้อย และสุดท้าย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดรับประทานยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทก่อนนอน
|