ออกอากาศ : วันที่ 19 เมษายน 2552  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เพลียแดด-ลมแดด
บทคัดย่อ:

ฤดูร้อนปีนี้ ความร้อนของอากาศ คาดว่าจะรุนแรงและอาจทำให้หลายคนป่วยด้วยโรคจากความร้อน ความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่มากับหน้าร้อนที่หลาย ๆ คนมองข้าม ได้แก่ ภาวะลมแดด เพลียแดด ทั้งที่มีอันตรายเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ผศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบาย อาการเพลียแดด ลมแดด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไปและเกิดการสูญเสียเหงื่อและสารน้ำไปอย่างมาก  เมื่อพูดถึงโรคนี้  บางท่านอาจคิดว่าน่าจะเกิดในทหารหรือนักกีฬาที่ออกกำลังกลางแจ้งเท่านั้น  แต่จริงๆ แล้วยังเกิดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยอีกด้วย  นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศเมืองหนาวที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อนอย่างบ้านเรา เมื่อมาถึงใหม่ ๆ แล้วออกกำลังกายกลางแจ้งหักโหมหรือออกแดดนาน ๆ อาจเกิดอาการเหล่านี้ได้ เนื่องจากร่างกายยังปรับตัวกับอากาศร้อนได้ไม่ดีพอ  ผู้เพลียแดดจะมีอาการอ่อนเพลีย แต่ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียนและเกิดอาการเป็นตะคริวของกล้ามเนื้อ มีไข้ต่ำ ๆ อาการเพลียแดดเป็นสัญญาณเตือนว่าต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะเกิดลมแดดซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้   เมื่อเกิดมีอาการในระยะเริ่มแรก ร่ายกายจะอ่อนเพลียให้พักในที่ร่มอากาศเย็น ถ่ายเท ใช้พัดหรือพัดลมเป่า และดื่มน้ำเย็น ๆ จนอิ่มหรือหายกระหายน้ำ หากมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลก่อนเกิดอาการลมแดดตามมา การปฐมพยาบาลให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อให้ตัวเย็น หรือพ่นละอองน้ำเย็นทั่วตัว  ดื่มน้ำผลไม้ ระวังการดื่ม น้ำเปล่าผสมเกลือแร่อย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ภาวะน้ำเป็นพิษได้  อาการลมแดด มีความรุนแรงกว่าอาการเพลียแดด เกิดจากการที่ ร่างกายเสียเหงื่อมาก โดยไม่ได้รับการชดเชยน้ำหรือเกลือแร่ที่สูญเสียไปอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุม ความร้อนที่เพิ่มขึ้นในทันทีทันใด ส่งผลให้ตัวร้อนจัด หอบหัวใจเต้นเร็ว มีอาการทางสมองสับสน ชักหรือหมดสติ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวายได้ อาจทำให้ช็อกต้องได้รับการปฐมพยาบาลและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที  การช่วยเหลือผู้มีอาการลมแดด ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับในภาวะเพลียแดด  แต่ต้องรีบลดความร้อนของร่างกาย และรีบนำส่งโรงพยาบาล เราคงหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนไม่ได้ การเข้าใจโรค รู้วิธีแก้อาการมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ ควรระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิอากาศ ไม่อยู่ในที่ร้อนอบอ้าวเกินไป สวมเสื้อผ้าโปร่ง สบาย ไม่หนา สวมหมวกหรือใช้ร่มกันแดด และดื่มน้ำให้เพียงพอ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช