ความคิดที่ว่าเป็นโรคหัวใจแล้วออกกำลังกายไม่ได้จริง ๆ แล้ว การออกกำลังกายกลับมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ อ.พญ.วิลาวัณย์ ถิระภัทรพงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู อธิบายว่าปัจจุบันมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ เช่น ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ก็ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายเช่นกัน การให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้ออกกำลังกาย ก็เพื่อลดการดำเนินโรคยืดอายุผู้ป่วยและฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยให้แข็งแรง การออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ การเต้นแอโรบิกเดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ปิงปอง เทนนิส และกอล์ฟ เป็นต้น การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาใด ๆ ขอให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน เมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก ให้หยุดพัก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อย ๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกายจนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนาน อย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไปและให้ทำเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ข้อสำคัญ ต้องไม่ลืมเตรียมร่างกายหรืออุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกาย และเบาเครื่องหลังออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรทำทุกครั้ง ทั้งนี้ควรให้แพทย์เป็นผู้แนะนำประเภท ความหนักเบา และระยะเวลาของการออกกำลังกาย รวมทั้งกำกับการฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแม้จะมีโรคหัวใจ ผู้ป่วยก็สามารถจะดำรงชีวิตยืนยาวได้ มาออกกำลังกายกันเถอะ เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้แข็งแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวคุณเอง |