โรคฟันผุในเด็กเป็นปัญหาที่พบมาก โดยเฉพาะเด็กอายุ 3 ปี มีฟันน้ำนมผุกว่าร้อยละ 61 และเด็กอายุ 6 ปี มีฟันน้ำนมผุถึงร้อยละ 85 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญโรคฟันผุเป็นโรคติดเชื้อที่ไม่สามารถหายได้ด้วยการใช้ยา และยังสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่นได้อีกด้วย ทพญ.นราวัลลภ์ เชี่ยววิทย์ งานทันตกรรม อธิบายว่า โรคฟันผุในเด็กแบ่งได้ 3 ระยะ คือ ฟันผุในระยะแรก จะมีลักษณะขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ผู้ปกครองควรพาไปพบทันตแพทย์ เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุของการลุกลามเสียแต่เนิ่น ๆ ระยะที่ 2 ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน ระยะนี้ควรได้รับการอุดฟันหรือครอบฟันในกรณีที่มีฟันผุขนาดใหญ่ ระยะที่ 3 ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบ ๆ ฟัน ซึ่งจะต้องรักษาด้วยการรักษาคลองรากฟันและครอบฟัน หรือถอนฟัน โรคฟันผุสามารถป้องกันได้ เช่น รักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดปราศจากการเพาะเชื้อแบคทีเรีย โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงอาหารพวกแป้งและน้ำตาล โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบ ลูกอม น้ำอัดลม และใช้ฟลูออไรด์เสริมเพื่อช่วยป้องกันฟันผุด้วย นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ ต้องมีส่วนในการดูแลสุขภาพในช่องปากของลูกน้อย โดยการเลือกแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ให้ลูกดูตัวอย่างขณะที่คุณพ่อคุณแม่แปรงฟัน ซึ่งเด็ก ๆ จะทำตามหรือการเล่านิทานสนุก ๆ เกี่ยวกับการแปรงฟันให้ลูกฟังก่อนนอน
|