ออกอากาศ : วันที่ 14 ธันวาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ป้องกันได้..หกล้มในผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:      ปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาใหญ่ที่นำมาซึ่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ  รศ.พญ.วิไล  คุปต์นิรัติศัยกุล  ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู  อธิบายว่า  การหกล้มของผู้สูงอายุนั้นจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ บางรายอาจถึงขั้นกระดูกหัก  ทำให้ผู้สูงอายุกลัวการหกล้ม และไม่ยอมยืนหรือเดิน  ส่งผลให้สมรรถภาพทางร่างกายเกิดการถดถอย  หากปล่อยไว้จะเกิดโรคแทรกซ้อนของระบบการทำงานของร่างกายได้อีกหลายประการ  ได้แก่กล้ามเนื้อเล็กและลีบลง  ทำให้ข้อต่อส่วนต่าง ๆ เกิดการหดรั้ง  และถ้านอนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาวะของกระดูกพรุน หรือกระดูกที่บางลง ประกอบกับระบบการควบคุมการทรงตัวที่มีปัญหาในผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสหกล้มและกระดูกหักได้  โดยตำแหน่งที่พบบ่อยคือ กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก เป็นต้น  นอกจากผลที่เกิดทางร่างกายแล้ว  ยังมีผลทางด้านจิตใจเกิดความกังวล  บางรายถึงกับซึมเศร้า  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่หกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก ทำให้ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาผู้อื่นบางรายไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำได้ด้วยตนเอง  ทำให้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน กิจกรรมทางสังคมลดลง  ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง  ดังนั้นการป้องกันการหกล้มจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการหกล้มอันได้แก่  การปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากสิ่งที่เป็นต้นเหตุของการหกล้ม  เช่น พรมเช็ดเท้าหรือพื้นภายในห้องน้ำที่ลื่น  การแก้ปัญหาการมองเห็นโดยติดไฟให้สว่างบริเวณทางเดิน นอกจากนี้ ปัญหาการทรงตัวเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้หกล้ม  ดังนั้นควรให้ผู้สูงอายุมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ และหมั่นฝึกการทรงตัวเป็นประจำ  สำหรับการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่กลัวการหกล้มแล้วไม่ยอมเดินสิ่งสำคัญจะต้องให้ความมั่นใจว่าเขาจะสามารถเดินได้โดยไม่หกล้มในขณะที่ฝึกเดิน หรือใช้เครื่องช่วยฝึกเดิน ค่อย ๆ ลดความช่วยเหลือลงเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช