ออกอากาศ : วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: อันตาย ! เมลามีน
บทคัดย่อ:

     ข่าวเรื่องการปนเปื้อนสารเมลามีน ทำให้หลายคนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ผสมมากับอาหาร  ผศ.นพ.ธีระ  กลลดาเรืองไกร  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  อธิบายว่า  สารเมลามีนเป็นสารอินทรีย์ประกอบด้วยสารไซยานาไมต์ เมื่อนำไปเผาไฟจะเกิดเป็นฟอร์มาลีน  และเนื่องจากเมลามีนมีลักษณะเป็นผงสีขาวละลายน้ำได้น้อยทำให้มีลักษณะคล้ายกับนมผง และถ้าหากเป็นเมลามีนบริสุทธิ์จะมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงถึง 66.67% เมื่อคิดเทียบเป็นโปรตีนจะมีปริมาณสูงถึง 416.66% ทีเดียว ดังนั้นหากนำเมลามีนมาผสมในอาหารจะทำให้เข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้น ๆ มีโปรตีนสูง คุณภาพได้มาตรฐาน  เพราะว่าการตรวจหาค่าปริมาณของโปรตีนในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง  แต่จะตรวจหาได้ทางอ้อมคือ ตรวจวัดที่ค่าไนโตรเจนแทน  นอกจากนี้ยังมีสารเมลามีนที่ผสมมากับยากำจัดศัตรูพืชและตกค้างในดินหรือพืช  เมื่อสัตว์กินหญ้าหรือพืชที่ปนเปื้อนจะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายและในสารคัดหลั่งของสัตว์ เช่น น้ำนมทำให้การตรวจพบแหล่งที่มาของการปนเปื้อนสารเมลามีนทำได้ยาก สำหรับสารเมลามีนที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป จะเป็นพวกภาชนะเมลามีน เช่น จาน ชาม หรือช้อน  เพราะมีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อน แต่ก็ต้องใช้ตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์  เช่นห้ามนำภาชนะเมลามีนมาใช้อุ่นอาหารกับเตาไมโครเวฟ เพราะความร้อนจากไมโครเวฟจะทำให้เกิดสารฟอร์มาลดีไฮล์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้  สำหรับสารเมลามีนนี้ร่างกายของเราไม่สามารถย่อยได้หากสะสมมาก ๆ จะจับตัวเป็นก้อนแข็งกลายเป็นนิ่วในท่อปัสสาวะและกรวยไต  ก่อให้เกิดมะเร็งที่ท่อปัสสาวะทำลายระบบสืบพันธุ์  หรือทำให้ไตวายเฉียบพลันได้  สำหรับพิษของสารเมลามีนนั้นเพียงแค่สูดดมเข้าไป  หรือได้รับการสัมผัสกับผิวหนังก็ทำให้เกิดการระคายเคืองได้  ไม่จำเป็นต้องรับประทานเข้าไปโดยตรง  และยังมี  ข้อควรระวัง ไม่ควรนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารร้อนหรือน้ำที่เดือดที่มีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส  และห้ามใช้ภาชนะเมลามีนอุ่นหรือปรุงอาหารในไมโครเวฟ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช