ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางทันตกรรม ที่ช่วยให้ฟันเทียมมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร ด้วยการฝังรากฟันเทียมเพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพในช่องปากให้ดีขึ้น ทพญ.จินดา ลีลารัศมี งานทันตกรรม อธิบายว่า การฝังรากฟันเทียมนั้นเป็นการทดแทนส่วนของฟัน และส่วนของรากฟันธรรมชาติที่หายไปทั้ง 2 ส่วน ลักษณะเหมือนมีฟันชุดที่ 3 งอกออกมาจากเหงือก โดยส่วนของฟันปลอมจะติดอยู่กับรากฟันเทียม ทำให้น้ำหนักจากการบดเคี้ยวที่กดลงไปที่กระดูกขากรรไกรเหมือนกับมีฟันแท้ ๆ หรืออีกชนิดหนึ่งคือ การฝังรากฟันเทียมร่วมกับการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ ซึ่งฟันเทียมจะช่วยยึดให้ฟันปลอมอยู่กับที่ แรงจากการบดเคี้ยวจะกระจายไปสู่เหงือกและกระดูกที่รองรับฟันปลอมทั้งหมด รากฟันเทียม ผลิตมาจากแท่งไทเทเนียมบริสุทธิ์ ซึ่งร่างกายของคนเราสามารถเข้ากันได้ดีกับไทเทเนียม และไม่เป็นอันตรายกับร่างกายมนุษย์ โดยมีการใช้ ในวงการแพทย์มาเป็นเวลานาน การฝังรากฟันเทียมเป็นการผ่าตัดเล็ก ๆ โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ จะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อ 1 ราก ถ้ามีการฝังรากฟันเทียม หลายจุดอาจใช้วิธีดมยาสลบก็ได้ แผลที่เกิดขึ้นหลังฝังรากฟันเทียม เล็กกว่าแผลถอนฟันและ เหงือกจะหุ้มรากฟันเทียม โดยเว้นระยะไว้ 4-6 เดือน เพื่อให้เซลล์กระดูกยึดติดเป็นเนื้อเดียวกับรากฟันเทียม จากนั้น จะนัดมาใส่ฟันปลอมส่วนบน เพื่อยึดติดกับรากฟันเทียมต่อไป ข้อดีของการฝังรากฟันเทียม คือจะช่วยทำให้ฟันเทียมสามารถบดเคี้ยวอาหารได้สะดวก และช่วยลดการบาดเจ็บของเหงือกและฟันที่อยู่ข้างเคียง ลดการละลายของกระดูกที่รองรับฟันเทียม ทำความสะอาดช่องปากได้ง่าย การพูดออกเสียงได้ชัดเจนกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ และเป็นธรรมชาติมากกว่า มีความมั่นใจในการพูดหรือยิ้มส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการฝังรากฟันเทียม คือจะมีการอักเสบรอบ ๆ รากฟัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับการทำความสะอาด ผู้ที่มารับการรักษาจะต้องไม่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือดหรือภูมิแพ้ และต้องมีสุขภาพช่องปากที่แข็งแรงด้วย
|