ออกอากาศ : วันที่ 9 พฤศจิกายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคลมชัก
บทคัดย่อ:

     โรคลมชักยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ในทุกเพศและทุกวัย ปัจจุบันสามารถรักษาโรคลมชักให้ดีขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งรักษาให้หายขาดได้  ผศ.นพ.รังสรรค์  ชัยเสวิกุล  ภาควิชาอายุรศาสตร์  อธิบายว่า โรคลมชักแท้จริงแล้วไม่ใช่โรค  แต่คนไทยเราเรียกกันจนเคยชินเช่นนั้น โรคลมชักเป็นกลุ่มอาการ หรืออาการแสดงที่เกิดจากโรคของสมองที่ทำให้บางเวลาสมองทำงานผิดปกติไปชั่วครู่จนเกิดอาการชักขึ้นชั่วขณะหนึ่ง  สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชัก  เกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติของสมองที่พบบ่อย ได้แก่ สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง  ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด อุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีภาวะอ่อนเพลีย  อดนอน  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไข้ อาจทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหารนานๆ  ก็มีส่วนกระตุ้นอาการชักขึ้นได้ เช่นกัน ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคลมชัก แพทย์จะสอบถามประวัติอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นอาการชัก ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มตามความจำเป็น เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะให้การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักด้วย  เช่น ผู้ป่วยที่ชักจากหลอดเลือดขอดในสมอง ก็จะรักษาหลอดเลือดขอดในสมอง สำหรับ การควบคุมอาการชักนั้นที่สำคัญคือ การให้ยากันชัก  และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการชัก สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนหนึ่งที่สามารถผ่าตัดสมองเพื่อให้หายขาดจากโรคลมชักได้ ก็อาจจะได้รับการพิจารณาผ่าตัดสมองแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้แล้วแพทย์จะให้คำแนะนำด้านต่างๆ เช่น การเล่นกีฬาและสันทนาการต่างๆ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การให้นมและการเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็ก เป็นต้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมอาการชักได้เป็นอย่างดี ส่วนน้อยที่ยังควบคุมด้วยยากันชักไม่ได้และไม่สามารถผ่าตัดสมองให้หายขาด ก็อาจใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองเพื่อช่วยควบคุมอาการชักให้ทุเลาลงได้     

     โดยปกติแล้วการชักจะหยุดเองในเวลา 1-2 นาทีในระหว่าง  การชักการดูแลผู้ป่วยเกิดอาการชัก คือตั้งสติอย่าตกใจ ประคองผู้ป่วยให้นอนหรือนั่งลง สอดหมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่มไว้ใต้ศีรษะ  ตะแคงศีรษะให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก และอย่าใส่สิ่งของเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วย เพราะ วัสดุที่ใส่เข้าไปอาจจะหักหรือขาดหรือทำให้ฟันหักหลุดไปอุดหลอดลมจนหยุดหายใจได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช