ออกอากาศ : วันที่ 30 ตุลาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รู้เท่าทันพิษของตะขาบแมงป่อง
บทคัดย่อ:

      ถ้าพูดถึงตะขาบและแมงป่องทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งตะขาบและแมงป่อง เป็นสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน  ส่วนกลางวันจะซุกตัวในที่มืดตามกองไม้ กองหิน ชอบอยู่ในที่เย็น หรือที่ชื้น ๆ  เช่น ในห้องน้ำหรือท่อแอร์ เป็นต้น รศ.พญ.สุภัทรา  เตียวเจริญ ภาควิชาปรสิตวิทยา อธิบายว่าผู้ป่วยที่ถูกตะขาบและแมงป่องต่อย จะพบรอยแผลต่างกัน โดยรอยแผลที่เกิดจากแมงป่องมีลักษณะคล้ายเข็มแทง ในขณะที่ตะขาบต่อย จะเป็นรอยเขี้ยว 2 รอยและมีเลือดออกเล็กน้อย นอกจากนั้นพิษของตะขาบและแมงป่องจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ หลังจากถูกต่อย ผู้ป่วยมีอาการ ปวด บวมแดง บางครั้งพบรอยไหม้ พิษสามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททำลายเม็ดเลือด ในผู้ป่วยบางรายมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  เหงื่อแตก ตัวชา หัวใจเต้นผิดจังหวะและหมดสติ   
      การรักษาอาการของพิษตะขาบและแมงป่องคือ  ห้ามขยับเขยื้อนบริเวณที่ถูกต่อย  ทำความสะอาดแผล ใช้ผ้าพันแผลพันไว้  และประคบด้วยน้ำแข็ง  ให้ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้  ยาแก้อักเสบ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก  สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงส่งผลต่อความผิดปกติของระบบประสาทและระบบการทำลายเม็ดเลือด ให้รีบมาพบแพทย์ โดยทั่วไปพิษของตะขาบและแมงป่องจะไม่รุนแรงที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต  แต่ในผู้ป่วยบางรายที่แพ้พิษจะมีอาการปวดบวมมาก และบางครั้งพบผิวหนังบริเวณรอบรอยแผล มีภาวะขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเนื้อตายทำให้แพทย์ที่ทำการรักษามีความจำเป็นต้องตัดเนื้อตายทิ้ง  ข้อควรระวังเกี่ยวกับตะขาบและแมงป่องทำได้ง่ายๆ ก่อนเข้านอนควรสำรวจผ้าห่ม  ใต้หมอน  และที่นอนเวลาหยิบของในที่มืดควรใช้ไฟฉายส่องดูให้แน่ใจ เพื่อความปลอดภัยจากพิษภัยของตะขาบและแมงป่อง   

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช