ออกอากาศ : วันที่ 26 ตุลาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: กรดยูริกในเลือดสูง
บทคัดย่อ: ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อไปตรวจสุขภาพ ควรตรวจหาค่ากรดยูริกในเลือดร่วมด้วย เพื่อจะได้รู้ว่ามีค่ากรดยูริกสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจก่อเกิดโรคตามมา  ศ.นพ. พิภพ  จิรภิญโญ  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่ากรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ มีต้นกำเนิดจากการแตกสลายของเซลล์ ร่างกายที่มีการเจริญเติบโตจะมีความต้องการกรดยูริกเพื่อใช้การสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่ แต่เมื่อใดที่ร่างกายหยุดสร้างเซลล์ เซลล์จะถูกสลาย  เกิดกรดยูริกในเลือด และเนื่องจากกรดยูริกไม่ละลายน้ำ ทำให้ร่างกายขับถ่ายออกได้น้อย  ประกอบกับมีอาหารบางชนิดที่เมื่อรับประทานเข้าไปจะไปเพิ่มกรดยูริกให้มากขึ้น  ทำให้มีการสะสมตัวของผลึกกรดยูริกเกาะตามข้อกระดูกต่าง ๆ เกิดเป็นโรคเก๊าท์มีอาการปวดบวมอักเสบอย่างแรง ดังนั้น ผู้มีค่ากรดยูริกในเลือดสูงจึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคเก๊าท์ได้มาก โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เกิดในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง  ผู้ที่ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีกรดยูริกสูง ถ้ายังไม่มีอาการปวดข้อปวดกระดูก  แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหาร อาหารที่ไม่ควรรับประทาน ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เพราะมีกรดยูริกและโคเลสเตอรอลมาก ส่วนความเชื่อที่ว่าสัตว์ปีกห้ามรับประทานไม่เป็นความจริงรับประทานได้ แต่ต้องไม่รับประทานหนังสัตว์ปีก และเครื่องดื่มบางประเภทที่จะไปเพิ่มกรดยูริก เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้  และน้ำตาลทราย จะเห็นว่าการเกิดกรดยูริกในเลือดสูงส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมามากมาย นอกจากโรคเก๊าท์แล้วทำให้เกิด โรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง และยังมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจด้วย หากตรวจพบค่ากรดยูริกในเลือดสูง  สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาเพื่อลดกรดยูริกและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช