ออกอากาศ : วันที่ 19 ตุลาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: แผลกดทับในผู้ป่วย
บทคัดย่อ:

ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน  อาจประสบปัญหาแผลกดทับร่างกาย  ดังนั้นการดูแลผู้ป่วย ไม่ให้เกิดแผลกดทับจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผศ.นพ. สรวุฒิ  ชูอ่องสกุล  ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า แผลกดทับเกิดจากภาวะที่ผู้ป่วยต้องนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเคลื่อนไหวไม่ได้  ทำให้เกิดการกดทับร่างกายบางส่วนเป็นเวลานาน  เมื่อผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับขาดเลือดไปเลี้ยง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเริ่มตาย  เกิดแผล  และโรคติดเชื้อตามมา โดยตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับที่พบบ่อยจะอยู่บริเวณก้นกบตามมาด้วย สะโพก ส้นเท้าและตาตุ่ม  การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับในผู้ป่วย คือ ต้องหมั่นสังเกตดูผิวหนัง  หากพบว่าผิวหนังเริ่มมีรอยแดง ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง  แสดงว่ามีอาการเริ่มต้นที่จะเป็นแผลกดทับแล้ว  ดังนั้น  การดูแลผู้ป่วยไม่ให้มีแผลกดทับ ควรมีการพลิกตัวและเปลี่ยนท่าผู้ป่วยบ่อย ๆ ใช้เตียงลมหรือเบาะรองนุ่ม ๆ ช่วยลดแรงกดทับ  รักษาผิวหนังให้แห้งและสะอาดปัจจุบันมีแผ่นรองเจลที่ใช้รองบนเบาะ  เป็นผลงานสิทธิบัตรที่มีการวิจัยรองรับ  โดยได้นำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้  ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับควรมาพบแพทย์เพื่อการตรวจเช็คแผล  เพราะผู้ป่วยอาจต้องรักษาเพิ่มเติมหากมีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อ สำหรับการเคลื่อนไหวผู้ป่วยที่มีแผลกดทับนั้น ควรจับผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคงทุก ๆ 2 ชั่วโมง สอนให้ผู้ป่วยยกตัว  ให้บริเวณก้นพ้นจากที่นอน ไม่ยกหัวเตียงขึ้นสูง  เพราะอาจทำให้เกิดแผลกดทับเวลายกตัวหรือย้ายผู้ป่วยควรใช้ผ้ารองตัว  เพื่อป้องกันการเสียดสีและเพิ่มแรงกดทับ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช