ออกอากาศ : วันที่ 12 ตุลาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ข้อไหล่หลุด
บทคัดย่อ:

ข้อไหล่ เป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดและหลุดได้บ่อยที่สุดเช่นกัน   เมื่อเกิดข้อไหล่หลุดครั้งหนึ่งแล้วจะมีโอกาสที่จะหลุดซ้ำอีกปัญหานี้รักษาอย่างไรนั้น อ.นพ. เอกวิทย์  เกยุราพันธุ์  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด อธิบายว่า ข้อไหล่หลุด คือ ภาวะที่หัวกระดูกต้นแขนหลุดออกจากเบ้า ผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดจะมีอาการปวดมาก หัวไหล่ผิดรูป ขยับแขนไม่ได้  ในบางรายอาจมีอาการชาแขนจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท ข้อไหล่หลุดจัดเป็นหนึ่งในภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาทันที  การรักษาข้อไหล่หลุด  ภายหลังจากผู้ป่วยได้ยาระงับปวดแล้วแพทย์จะดึงข้อให้เข้าที่ จากนั้นให้ใส่อุปกรณ์พยุงแขน โดยเฉพาะผู้ที่ข้อหลุดครั้งแรกควรให้ข้อไหล่อยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นให้ทำกายภาพบำบัด และบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่  ปัญหาที่พบบ่อย คือ การหลุดซ้ำ เป็นเพราะเส้นเอ็นภายในหัวไหล่มีการฉีกขาด บางรายเพียงถูก กระแทกเบา ๆ ขณะโหนรถเมล์ หรือนอนยกแขนก่ายหน้าผาก  ข้อไหล่ก็หลุดแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ การผ่าตัดสามารถช่วยได้  โดยแพทย์จะทำการซ่อมเส้นเอ็นที่ฉีกขาดให้ยึดติดกับกระดูกอย่างเดิม  เพื่อป้องกันการหลุดซ้ำ  การผ่าตัดรักษาข้อไหล่หลุดทำได้หลายวิธี ในปัจจุบันมีการพัฒนาของเครื่องมือ  เทคนิคการผ่าตัด  การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ ได้รับความนิยมมากขึ้นและได้ผลดีมาก เพราะข้อไหล่เป็นข้อที่อยู่ลึก การผ่าตัดโดยวิธีเปิดจะต้องแหวกผ่านกล้ามเนื้อหลายชั้น แผลผ่าตัดจะค่อนข้างใหญ่ ส่วนการส่องกล้องจะเป็นการเจาะรู แผลผ่าตัดเล็ก  มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช