ออกอากาศ : วันที่ 21 กันยายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ธาลัสซีเมียในเด็ก
บทคัดย่อ: เด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย  เกิดจากการได้รับยีนผิดปกติจากพ่อและแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นพาหะ  คือมีพันธุกรรมโรคนี้แฝงอยู่ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อ.นพ.บุญชู  พงศ์ธนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูกทำให้การสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ สาเหตุเป็นเพราะว่าพ่อและแม่ต่างเป็นพาหะ  คือพันธุกรรมของโรคเพียงแต่ไม่แสดงอาการเมื่อมีลูก  ลูกจะได้รับยีนของโรคธาลัสซีเมียชนิดเดียวกันมาจากทั้งพ่อและแม่  การป้องกันต้องทำก่อนที่จะตัดสินใจมีบุตร  เนื่องจากคู่สมรสที่เป็นพาหะส่วนใหญ่ไม่ทราบ  เนื่องจากไม่มีอาการของโรค  และยังมีสุขภาพดีเหมือนคนปกติ  ซึ่งต้องใช้วิธีตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษจึงจะทราบได้  การตรวจเลือดคู่สมรส  ถ้าพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่  ถือว่าเป็นคู่เสี่ยงที่จะทำให้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียได้  หากตั้งใจจะตั้งครรภ์สามารถตรวจทารกในครรภ์ก่อนคลอดว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือไม่  เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะตั้งครรภ์ต่อไป  เด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย  จะมีอาการตัวซีดเรื้อรัง อ่อนเพลีย ตาเหลือง ตับ ม้ามโต  การเจริญเติบโตช้าและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  

การรักษาถ้าผู้ป่วยมีอาการซีดมาก การให้เลือดที่สม่ำเสมอร่วมกับการให้ยาขับธาตุเหล็ก ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตใกล้เคียงคนปกติได้การตัดม้ามจะพิจารณาทำในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการม้ามโตมากและจำเป็นต้องให้เลือดเป็นประจำ ส่วนการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะทำในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการซีดรุนแรง จำเป็นต้องให้เลือดเป็นประจำ  และจะได้ผลดี  ถ้าได้รับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่น้องที่มีเลือดเข้ากันได้เท่านั้น โรคธาลัสซีเมียสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเลือดคู่สมรสก่อนตัดสินในมีบุตร เมื่อเป็นโรคธาลัสซีเมีย ควรรับประทานอาหาร  ให้ครบ 5 หมู่  โดยเฉพาะอาหารที่มีโฟเลตสูง  เช่น  ข้าวกล้องหอม มะลิ ผักโขม สับปะรดศรีราชา หรือส้มโชกุน เพื่อไปช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เลือดหมู


กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช