ออกอากาศ : วันที่ 14 กันยายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ระวังภัยไข้เลือดออก
บทคัดย่อ: จากสภาวะโลกที่ร้อนขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและตามมาด้วยโรคระบาดไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ อ.พญ. พิมพ์พัณณดา  เจียสกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  อธิบายว่า ไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี่ ที่มียุงลายเป็นพาหะสำคัญ โดยเชื้อจะมาจากยุงลายตัวเมียที่มีพฤติกรรม ชอบออกหากินในเวลากลางวัน และชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขังมากกว่าจะวางไข่ในท่อระบายน้ำ หรือตามห้วย  หนอง  คลองบึง สาเหตุของโรคมาจากยุงลายตัวเมียบินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงมีไข้สูง  ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสแดงกี่เพิ่มจำนวนในตัวยุง เมื่อยุงลายบินไปกัดคน ก็จะแพร่เชื้อสู่คน โดยเชื้อจะอยู่ในร่างกายประมาณ 2 ถึง 7 วัน ช่วงมีไข้หากมียุงกัด ยุงก็จะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแพร่สู่ผู้อื่นต่อไป

ผู้ที่ถูกยุงลายกัด และได้รับเชื้อไข้เลือดออก อาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ที่นี้จะรู้ได้อย่างไรว่าป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยสังเกตอาการ ดังนี้ผู้ป่วยเป็นไข้สูงเฉียบพลัน 2 - 7 วัน มีอาการซึม อ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลาปวดท้องมาก มีเลือดออก  เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ  มีอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด  กระหายน้ำตลอดเวลา ถ้าเป็นเด็กเล็กจะร้องกวนตลอดเวลา  ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลงหรือตัวลาย  อาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามตัว แขนขา หากผู้ป่วยมีอาการตามนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล พื่อให้แพทย์ทำการเจาะเลือดตรวจวินิจฉัย  เนื่องจากไข้เลือดออก เป็นโรคที่ไม่มียาเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ  โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อคและเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม ข้อสำคัญการลดไข้ให้รับประทานยาพาราเซทตามอลเท่านั้น  ห้ามใช้ยาแอสไพรินและยาลดไข้ชนิดอื่น เพราะอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือตับวายได้  ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ต้องป้องกัน โดยการควบคุมการแพร่กระจายของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ถ้าปิดไม่ได้ให้ใส่ทรายอะเบท หรือปลาหางนกยุง ส่วนสิ่งของเครื่องใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้ทำลายหรือคว่ำทิ้งไม่ให้น้ำขัง

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช