ออกอากาศ : วันที่ 17 สิงหาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รอบรู้เรื่องวัคซีนในเด็ก
บทคัดย่อ:      โดยปกติแล้ว  เด็กที่คลอดออกมาทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน  ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 ขวบ  วัคซีนที่เด็กต้องได้รับนั้นมี อะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองควรทราบ อ.พญ.พิมพ์พัณณดา  เจียสกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า ในปัจจุบัน มีโรคติดเชื้อในเด็กที่สำคัญหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน  โดยทั่วไป นอกเหนือจากการรับประทานนมแม่ และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้วการที่ให้เด็กได้รับวัคซีนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุตามคำแนะนำของแพทย์  นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของลูกให้แข็งแรง  วัคซีนพื้นฐาน  ที่เด็กต้องได้รับประกอบไปด้วย  วัณโรคฉีด  1 ครั้ง อายุแรกเกิด  ตับอักเสบ-บี ฉีด  3 ครั้ง  อายุแรกเกิด  2 เดือน และ    6 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ฉีด  5 ครั้ง อายุ 2 เดือน 4 เดือน  6 เดือน 18  เดือน และ 4 - 6 ปี โปลิโอ  รับประทาน 5 ครั้ง อายุ  2  เดือน  4  เดือน 6 เดือน 18  เดือน และ 4 - 6 ปี หัด หัดเยอรมัน คางทูม ฉีด  2 ครั้ง อายุ  9 เดือน  และ  4 -  6 ปี  ไข้สมองอักเสบเจอี ฉีด 3 ครั้ง  อายุ 1  ปี   1 ปี 1 เดือน  และ  2 ปี ส่วนวัคซีนเสริม  ได้แก่  วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ  ไอพีดี ไวรัสโรต้า  โรคตับอักเสบเอ  โรคสุกใส  และโรคไข้หวัดใหญ่  ซึ่งผู้ปกครองควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ผลข้างเคียงจากวัคซีนรวมถึง ค่าใช้จ่าย  เพื่อประกอบการตัดสินใจให้บุตรหลานของท่านรับวัคซีนเสริมสำหรับเด็กที่ไม่ได้มาฉีดวัคซีนตามนัด สามารถฉีดเข็มต่อไปโดยไม่ต้องตั้งต้นนับหนึ่งใหม่  หากถึงกำหนดนัดหมายให้มาฉีดวัคซีน ถ้าเด็กเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด  ไอและมีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ สามารถให้วัคซีนได้ แต่ถ้ามีไข้สูงหรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ควรเลื่อนการฉีดออกไปจนกว่าจะหายดี ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากรับวัคซีน เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ตัวร้อน  เป็นผื่น  โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรงและจะหายไปได้เอง หากเด็กมีปฏิกิริยารุนแรงหลังจากการได้รับวัคซีน ผู้ปกครองควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง  ดังนั้น การนำเด็กมารับวัคซีนจึงเป็นการป้องกันการเกิดโรคในเด็กที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และเป็นวิธีที่ดีกว่าการรักษาเมื่อเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช