ออกอากาศ : วันที่ 27 กรกฎาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:           ย่างเข้าฤดูฝน  อากาศมักจะมีความชื้นและเย็น  ทำให้เอื้อต่อการกระจายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์  ประดิษฐสุวรรณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างฉับพลัน  ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้ง่ายโดยเชื้อโรคจะมาจากละอองน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย  การหายใจ  การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน หรือการเอามือไปสัมผัสเชื้อแล้วมาขยี้ตา เอาเข้าปาก ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่  ผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูกและปากเกิดเป็นอาการไข้หวัดใหญ่ขึ้นมา หลังจากได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1 - 3 วัน ผู้ป่วยจะแสดงอาการ  มีไข้สูงฉับพลัน  หนาวสั่น  เจ็บคอ น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะรุนแรง เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย  อาการไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2 ถึง 4 วัน  แล้วจะค่อยดีขึ้น  และจะหายได้เองภายใน 5 - 7 วัน แต่ก็อาจจะ มีผู้ป่วยบางรายมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ  มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  เช่น ไซนัสอักเสบ  หูอักเสบ  หลอดลมอักเสบ  และปอดบวมอักเสบ  ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องมาพบแพทย์  เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การดูแลผู้สูงอายุเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  แนะนำให้นอนพักผ่อนมาก ๆ อาบน้ำอุ่น กินอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และรักษาตามอาการที่เป็น เช่น มีไข้สูงให้ รับประทานยาลดไข้พาราเชตตามอล  จิบยาแก้ไอ  ใช้ยาลดน้ำมูก   แต่ไม่ จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ที่สำคัญขอให้ผู้ป่วยใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่   หมอขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน  การฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ภายหลังฉีด 2 - 4 สัปดาห์ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน   ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้  ส่วนผู้สูงอายุหากได้รับการฉีด วัคซีน  จะสร้างภูมิคุ้มกัน  ช่วยลดอัตราการเกิดไข้หวัดใหญ่ได้ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช