ออกอากาศ : วันที่ 20 กรกฎาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ปอดบวมในเด็ก
บทคัดย่อ:           เด็กเล็กที่มีอาการไข้หวัด  เป็นแล้วไม่หาย  ซ้ำยังมีอาการไอ  หอบจนตัวโยน  อาจมีสาเหตุมาจากปอดบวม ผศ.นพ.จักรพันธ์  สุศิวะ  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า  ปอดบวม เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส  แบคทีเรีย  ทำให้ถุงลมเล็ก ๆ จำนวนนับล้านถุงในปอดเกิดการอักเสบ  เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี  เมื่อป่วยเป็นปอดบวม  ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็ก ๆ ต่ำกว่า 5 ปี มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมเกิดจาก  เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย  คือต่ำกว่า 2500 กรัม  ได้รับนมแม่ไม่ถูกต้อง  มีภาวะทุพโภชนาการ  ได้รับวัคซีนไม่ครบ  อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อากาศเสีย  หรือได้รับควันบุหรี่ อาการของโรคปอดบวม  อาจเกิดภายหลังจากเด็กป่วยเป็นไข้หวัดมาแล้ว 2 ถึง 3 วัน  หรือมีอาการตั้งแต่เริ่มเป็นไข้หวัดเลยก็ได้ การสังเกตอาการ  เด็กจะมีไข้สูง  ไอมากจนหอบ เหนื่อยและหายใจเร็ว  เสียงหายใจครืดคราด  เนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว การดูว่าเด็กหายใจเร็วหรือไม่  ให้นับการหายใจในขณะเด็กหลับ  หากเด็กที่มีอายุ 2 เดือนขึ้นไป หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที อายุ 1 ถึง 5 ปี หายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีถือว่าผิดปกตินะครับ  เด็กบางคนอาจมี อาการหายใจลำบาก  หายใจแล้วอกบุ๋ม  จมูกบาน  เด็กเล็กที่เป็นปอดบวมอาจตรวจพบริมฝีปากเขียว หายใจมีเสียง การรักษา แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรค  เริ่มด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย  บางครั้งอาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย  เพื่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่าง เหมาะสม โดยทั่วไป หลังจากให้เด็กรับประทานยาต่อเนื่องจนครบ 7 - 10 วัน  อาการจะดีขึ้น  ยกเว้นเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมชนิดรุนแรง  แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล  การป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคปอดบวม  วิธีที่ดีที่สุด คืออย่าพาเด็กไปใกล้ชิด หรือสัมผัสผู้ป่วยเป็นไข้หวัด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช