ออกอากาศ : วันที่ 29 มิถุนายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: นิ้วล็อกรักษาได้
บทคัดย่อ:

     ช่วงอากาศเย็นถ้าคุณตื่นนอนตอนเช้าแล้วรู้สึกเหยียดนิ้วบางนิ้วไม่ออก  ลักษณะเช่นนี้อาจเป็นอาการของโรคนิ้วล็อกได้ อ.นพ. ต่อพล วัฒนา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด อธิบายว่า  โรคนิ้วล็อกเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรง ตำแหน่งโคนนิ้ว โดยจะเหยียดนิ้วบางนิ้วไม่ออกเหมือนโดนล็อก  แต่กำมือ งอนิ้วได้  ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกนิ้ว  และในบางคนอาจเป็นพร้อมกัน   2-3 นิ้วก็ได้  อาการนิ้วล็อกที่พบบ่อยที่สุดคือ  นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วนาง ซึ่ง  จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  ในช่วงอายุ 40-50 ปี ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้มือทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อย ๆ เช่น การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การใช้กรรไกรตัดผ้า   เป็นต้น  อาการของโรคนิ้วล็อกจะแบ่งเป็น  4 ระยะ  ระยะแรกมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐาน  นิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดมากขึ้น  แต่ยังไม่มีอาการสะดุด ระยะสอง   มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว  ระยะสามมีอาการติดล็อก  เมื่องอนิ้วลงไปแล้วจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างหนึ่งมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลง  ได้เอง และระยะสี่มีอาการอักเสบและบวม  ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้  ถ้าใช้มือช่วยจะปวดมาก การรักษาอาการนิ้วล็อก  ถ้าเป็นในระยะแรกจะให้รับประทานยาเพื่อลดการปวด บวม อักเสบ และพักการใช้มือ  ถ้าเป็นระยะที่สองจะใช้เครื่องดามนิ้ว หรือการนวดเบา ๆ  การใช้ความร้อนประคบ และออกกำลัง นิ้วด้วยการเหยียดนิ้ว นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ ปวด บวม  และเป็นการรักษาที่ได้ผลดี   แต่มีข้อจำกัด คือ ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อนิ้วที่เป็นโรค สำหรับการรักษาที่ดี  ที่สุดคือการผ่าตัด โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวก ไม่ติดขัด  หลังผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ ส่วนการผ่าตัดโดยใช้เข็มเขี่ย ยังไม่เป็นวิธีรักษาที่มาตรฐาน เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและเส้นประสาทได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช