ออกอากาศ : วันที่ 22 มิถุนายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคตาแห้ง
บทคัดย่อ:       ในทางการแพทย์นั้นถ้ามองตาแล้ว ดวงตาไม่เป็นประกายแวววาวถือว่าเป็นโรคตาแห้ง  โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่อันตรายเพียงสร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วย แต่ในรายที่รุนแรงจะทำให้เสียคุณภาพชีวิต และตามัวลง หรือเกิดโรคอันตรายต่อกระจกตาได้ รศ.พญ.ภิญนิตา  ตันธุวณิชย์  ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า  โรคตาแห้งเกิดจากการที่ปริมาณน้ำตาที่มาหล่อเลี้ยงดวงตาเพื่อเคลือบกระจกตามีไม่เพียงพอจะพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุมาก  โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน สาเหตุของโรคตาแห้งเกิดจากการขาดน้ำตา  ทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำตา  ซึ่งอาจเป็นผลจากอายุ  การขาดฮอร์โมน การใส่คอนแทคเลนส์ การติดเชื้อเริมที่กระจกตา หรือโรคประจำตัว เช่น  เบาหวาน โรคข้อ เป็นต้น คนที่ตาแห้งจะทำให้ผิวกระจกตาไม่เรียบ ดังนั้น ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพไม่ชัด และโอกาสติดเชื้อที่กระจกตาหรือส่วนต่าง ๆ ของลูกตาง่ายกว่าคนทั่วไป   
      อาการของโรคตาแห้งส่วนใหญ่จะมีอาการระคายเคืองตา  แสบตา คันตา  ตาสู้แสงไม่ได้อาการนี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้สายตาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการดูทีวีนาน ๆ  การดูคอมพิวเตอร์  การอ่านหนังสือ  บางครั้งผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหลเนื่องจากน้ำตาปกติลดน้อยลง ทำให้ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาออกมาชดเชยการป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคตาแห้งมากขึ้น  โดยการสวมแว่นตากันแดดกันลม และควรเป็นแว่นขนาดใหญ่ที่มีส่วนโค้งลงมาปิดบริเวณข้างตาหลีกเลี่ยงการใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ  ถ้าจำเป็นควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ  หลับตาลงให้ตาได้พักบ้าง  หากป้องกันแล้วไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยาหยอดตา  ซึ่งเป็นน้ำตาเทียมหรือยากระตุ้นการสร้างน้ำตา  ถ้ายังไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยการอุดท่อน้ำตาเพื่อให้น้ำตาคงอยู่ในดวงตามากขึ้น  จักษุแพทย์อาจวินิจฉัยโรคตาแห้งด้วยการวัดปริมาณน้ำตา โดยใช้แถบกระดาษกรองมาตรฐานสอดไว้ที่ซอกเปลือกตาด้านล่างค่อนไปทางหางตา  ประมาณ 5 นาที  หากปริมาณน้ำตาปกติจะวัดแถบน้ำตาที่เปียกได้  5.5 มิลลิเมตรขึ้นไป โรคตาแห้งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยให้อาการดีขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช