ออกอากาศ : วันที่ 1 มิถุนายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การตรวจอัลตร้าซาวน์ด 4 มิติ
บทคัดย่อ:

     โดยทั่วไป การตรวจอัลตร้าซาวน์ดในทางการแพทย์นั้นจะเป็นการตรวจ 2 มิติ 3 มิติ แต่ในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นการตรวจแบบ 4 มิติแล้ว ซึ่งแพทย์สามารถประเมินว่าทารกมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่เหมาะสมหรือไม่ ผศ.นพ.อนุวัฒน์  สุตัณฑวิบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาอธิบายว่าการตรวจอัลตร้าซาวน์ดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ นั้นยังคงต้องใช้การตรวจอัลตราซาวน์ด 2 มิติเป็นพื้นฐาน แต่สำหรับการตรวจอัลตร้าซาวน์ด 4 มิตินั้นจะช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะภาพที่ออกมาเป็นภาพ 3 มิติ  ที่จะเห็นทั้งด้านแนวตั้ง แนวนอน แนวลึก รวมถึงอีก 1 มิติ คือเรื่องเวลา จึงเห็นการเคลื่อนไหวของทารกไปพร้อม ๆ กัน ทำให้สามารถสื่อสารกับบิดามารดาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การตรวจอัลตร้าซาวน์ด  4 มิติ ยังเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์คือ  ให้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เนื่องจากได้ข้อมูลจากการตรวจที่ละเอียดขึ้น สามารถวัดปริมาตรของสิ่งที่ต้องการตรวจได้ เช่น ตรวจวัดปริมาตรของปอด ปริมาตรของรก เด็ก ตรวจดูความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของกระดูก หรือภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้ชัดเจนขึ้น
      การตรวจอัลตร้าซาวน์ด  4  มิติ สามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุครรภ์ แต่อายุครรภ์มากขึ้นพอประมาณ จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของร่างกายทารกได้มากขึ้น  เพราะมีการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และปริมาณน้ำคร่ำอย่างเต็มที่  สำหรับช่วงอายุครรภ์ที่จะให้ภาพที่ดีที่สุด คือ 26 - 28 สัปดาห์  เพราะเป็นช่วงที่มีน้ำคร่ำมากจะมองเห็นภาพทารกได้ ชัดเจน การตรวจอัลตร้าซาวน์ด  4  มิติ  จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ จากทารกในครรภ์ด้วย  เนื่องจากบางครั้งทารกอาจจะนอนคว่ำ  หันหน้า หรือส่วนที่ต้องการตรวจชิดผนังมดลูกทำให้ไม่สามารถตรวจได้ การตรวจอัลตร้าซาวน์ด 4 มิติ  จะมีข้อจำกัดที่ทำให้เห็นได้ไม่ชัดคืออายุครรภ์มากเกินไป  หรือมีน้ำคร่ำน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคของการตรวจอัลตร้าซาวน์ด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช