ออกอากาศ : วันที่ 20 เมษายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคตาเหล่ในเด็ก : รักษาได้
บทคัดย่อ:      โรคตาเหล่ในเด็ก เป็นภาวะที่ตาข้างซ้ายและข้างขวาไม่อยู่ในแนวเดียวกัน  ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของด้วยตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ผศ.นพ.ธรรมนูญ   สุรชาติกำธรกุล ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า โรคตาเหล่ในเด็กมักไม่ทราบสาเหตุ  จากการตรวจพบว่าประมาณร้อยละ 5 ของเด็กที่เป็นโรคตาเหล่  และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติ ตั้งแต่แรกเกิด หรือภายในช่วงอายุ 6 เดือน  ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยอาการเริ่มแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อนกัน เพราะตาทั้ง 2 ข้างมองไปในจุดที่ต่างกัน  จากนั้นสมองจะปรับให้ไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างหนึ่งเพื่อช่วยให้การเห็นภาพซ้อนนั้นหายไป แต่ในเด็กบางคนอาจเป็นตาเหล่สลับ  คือตาขวามองวัตถุ  ตาซ้ายจะเหล่กลับกัน  และบางรายจะเป็นตาเหล่ตลอดเวลา  หรือตาเหล่เป็นครั้งคราว  หรือเป็นตาขี้เกียจ  โดยเด็กจะใช้ตาขวามอง ทำให้ตาซ้ายจะเหล่ ลักษณะนี้ถือว่าตาซ้ายเป็นตาขี้เกียจ
     การรักษาในเด็กบางคนที่ตาเหล่เนื่องจากสายตายาว  พวกนี้ถ้าใส่แว่นตาก็ทำให้ตาตรงได้  แต่ถ้าเป็นกรณีของตาขี้เกียจ จะรักษาด้วยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ใช้ตาข้างที่ไม่ดี  และถ้าเป็นตาขี้เกียจแล้วยังสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ก็จะให้ใส่แว่นสายตาร่วมด้วยสำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะตรวจเช็คประสาทตา  ถ้าสายตาปกติ ไม่สั้น  ไม่ยาว และไม่เอียงรวมทั้งไม่เป็นสายตาขี้เกียจ  ก่อนผ่าตัดแพทย์จะตรวจเช็คมุมเหล่ของสายตา จากนั้นให้เด็กดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ  1  ชั่วโมง   หลังการผ่าตัดจะมีตาแดง ๆ ตรงเยื่อตาประมาณ 1 สัปดาห์  ในช่วงนี้ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าตา ปกติคนที่ตาตรงได้จะเกิดจากตาต้องมองเห็นชัด  สมองต้องควบคุมได้ดี  ถ้าสมองควบคุมไม่ดีก็จะเกิดตาเหล่ ดังนั้นการตรวจและรักษาโรคตาเหล่ในเด็กจะให้ผลการรักษาทีดี  เพราะเมื่อรักษาเร็ว การควบคุมของสมองจะปรับการมองเห็นให้เป็นปกติคือ เห็นภาพ 3 มิติ  แต่ถ้าไปรอรักษาตอนโตจะได้ผลเพียงความสวยงามและบุคลิกภาพที่ดีเท่านั้นครับ  หลังการผ่าตัดอาการตาเหล่จะเป็นตาปกติ  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ  อย่ารอจนลูกโตแล้วค่อยรักษาเพราะจะแก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช