ออกอากาศ : วันที่ 13 เมษายน 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: มะเร็งกล่องเสียง
บทคัดย่อ:      กล่องเสียงเป็นอวัยวะ ที่นอกจากจะใช้ในการออกเสียงพูดแล้ว ยังสัมพันธ์กับทางเดินหายใจและการกลืนอาหาร ดังนั้นถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับกล่องเสียง จึงมีผลกระทบต่อการออกเสียง การหายใจ การกลืนอาหารด้วย  รศ.นพ.โชคชัย  เมธีไตรรัตน์  ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า  มะเร็งกล่องเสียง เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้มากซึ่งพบได้มากในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 55 - 65 ปี มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องตัดกล่องเสียงทิ้ง จนทำให้การดำเนินชีวิตที่เคยเป็นปกติเปลี่ยนไปและพบว่า เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง  สำหรับสาเหตุของมะเร็งกล่องเสียงมีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ประการ แต่ประการสำคัญนั้น ได้แก่ การสูบบุหรี่จัด รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อีกทั้งพบว่า ผู้ที่สูบ บุหรี่ควบคู่กับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกล่องเสียงสูงขึ้นตามไปด้วย
     ทั้งนี้ อาการของมะเร็งกล่องเสียง ไม่มีอาการเฉพาะ แต่จะแสดงอาการของโรคเหมือนกับโรคทางกล่องเสียงหรือลำคอทั่วไป ผู้ป่วยจะเสียงแหบ เจ็บคอ โดยที่รักษาด้วยวิธีทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้น อีกทั้งกลืนอาหารลำบากคล้ายมีก้างติดคอตลอดเวลา เลือดปนน้ำลายหรือเสมหะ หายใจติดขัดและมีก้อนหรือมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ  สำหรับการรักษา มี 2 วิธีการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด และรังสีรักษา  ทั้งนี้ การผ่าตัดถือเป็นการรักษาวิธีหลัก ซึ่งจะผ่าตัดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยทั่วไปจะมีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอออกไป แต่ถ้าโรคลุกลามมาก อาจจำเป็นต้องตัดกล่องเสียงออก ซึ่งแพทย์จะเปิดปลายหลอดลมออกมาไว้ด้านหน้าลำคอ หลังผ่าตัดใหม่ๆ  แพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจไว้ระยะหนึ่งจนกว่าผู้ป่วยจะคุ้นเคยจึงค่อยเอาออก ส่วนการฉายรังสีรักษานั้น อาจใช้เป็นวิธีการรักษาร่วมกับการผ่าตัด โดยฉายก่อนหรือหลังผ่าตัด หรือในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็อาจใช้วิธีการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์   ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่สูญเสียกล่องเสียงจากการผ่าตัด ในระยะแรกอาจรู้สึกสิ้นหวังที่การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใกล้ชิดจะให้กำลังใจและคอยดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพกายและจิตใจได้เร็วขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช