ออกอากาศ : วันที่ 9 มีนาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ต่อหมันหญิง
บทคัดย่อ:       จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นใน 5 จังหวัดภาคใต้ ทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียบุตร  คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาลรู้สึกเห็นใจชาวบ้านเหล่านั้น จึงได้จัดทำโครงการศิริราชต่อหมันสืบทายาทแก่ผู้ประสบภัยสึนามิฟรี  รศ.นพ.เรืองศิลป์  เชาวรัตน์ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา  อธิบายว่า  แต่ก่อนที่จะเริ่มการต่อหมันนั้นผู้หญิงที่เคยผ่านการทำหมันถาวรมาแล้ว ในทางการแพทย์ ถือว่าการทำหมัน เป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ได้รับความนิยมที่สุด  โดยการคีบท่อมดลูกหรือท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างมาผูกแล้วตัด  ซึ่งร้อยละ 23  ของผู้หญิงที่อายุระหว่าง 15 - 44  ปี  มักคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้  และพบว่าร้อยละ  5  - 10  ของผู้หญิงที่ทำหมัน  มักเกิดความเสียใจและไม่พอใจ อยากแก้หมันในภายหลัง

     ขั้นตอนการต่อหมันนั้น จะต้องมีการตรวจร่างกายทั้งสามีและภรรยา เพื่อดูความพร้อมของร่างกายว่าสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใด  โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงจะใช้การส่องกล้องทางช่องท้องเข้าไปดูสภาพของท่อนำไข่  จากนั้นอาจทำการต่อหมันทันทีหรือนัดหมายภายหลัง  โดยวิธีการนั้นจะมีการวางยาสลบหรือใช้ยาชาฉีดเข้าไขสันหลังก่อนทำการต่อหมัน  และเนื่องจากท่อนำไข่มีขนาดเล็กมาก  จึงใช้วิธีการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์  โดยการตัดท่อนำไข่ส่วนที่ตันออกแล้วเย็บต่อท่อดังกล่าวเข้าหากัน  จากนั้นทำการฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูก  เพื่อตรวจสอบว่าสีสามารถเดินทางไปยังท่อนำไข่ที่ต่อแล้วได้ดีเพียงใด หลังจากนั้นจึงต่ออีกข้างและทำการทดสอบเช่นกัน ก่อนจะเย็บปิดแผลเป็นขั้นตอนสุดท้าย  การต่อหมันด้วยวิธีนี้   มีความแม่นยำสูงและอัตราการตั้งครรภ์ก็สูงกว่าวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม อาจใช้การส่องกล้องทางช่องท้องช่วยในการต่อหมันได้อีกวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย แต่ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์   สำหรับผู้ที่ได้รับการต่อหมันแล้วควรรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงทั้งสามีและภรรยา   ทำจิตใจให้แจ่มใส ก็จะช่วยให้การเกิดการตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น ท่านที่สูญเสียบุตรจากเหตุการณ์สึนามิที่ทำหมันแล้วและต้องการมีบุตรอีก สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานภาควิชาสูติศาสตร์- นรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โทร. 0 2419 4888, 0 2419 8999  ได้ในวัน เวลาราชการ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช