ออกอากาศ : วันที่ 2 มีนาคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคคาวาซากิ
บทคัดย่อ:       โรคคาวาซากิเป็นโรคที่เกิดกับเด็ก มีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ  ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ จึงต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว  เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน  ศ.พญ.ดวงมณี  เลาหประสิทธิพร  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า  โรคคาวาซากิ  พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1 – 2 ปี  พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง  แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่า   โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ  แต่พบว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นหลายแห่งในร่างกาย  ทำให้เกิดอาการแสดงต่าง ๆ พบว่าประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยเกิดการอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจร่วมด้วย  หากให้การวินิจฉัยและรักษาได้ภายใน      10  วัน นับจากมีไข้  จะช่วยให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดลดลงเหลือประมาณร้อยละ 5  ซึ่งอาการของโรคนี้ คือ เด็กจะมีไข้สูงทุกคน โดยมากมักเป็นนานเกิน  5  วัน  บางรายอาจนานกว่านี้  อาจมีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา  ตาขาวจะแดง  2  ข้าง  แต่ไม่มีขี้ตา  ริมฝีปากแห้งแดงอาจแตกมีเลือดออก  ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ๆ คล้ายผิวสตรอเบอรี่  ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง  ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต  อาการทั้งหมดนี้จะเกิดภายในสัปดาห์แรก  ในสัปดาห์ที่  2 จะมีการลอกของผิวหนัง  โดยเริ่มจากบริเวณปลายนิ้วมือ  นิ้วเท้า  และอาจลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า  อาการอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่  ข้ออักเสบโดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ท้องเสีย  ซึ่งอาการดังกล่าวอาจหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ที่สำคัญคือ โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ  ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง  ตีบหรือแคบได้  ในรายที่หลอดเลือดตีบแคบมาก   อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจ
ขาดเลือดเลี้ยงเหมือนที่พบในผู้ใหญ่ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ   ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้

      เนื่องจากการวินิจฉัยต้องอาศัยอาการเป็นหลักร่วมกับการตรวจเลือด  ซึ่งอาการแสดงมักพบไม่พร้อมกัน จึงทำให้เกิดความยากในการวินิจฉัยหากไม่ได้นึกถึงโรคนี้ การรักษาในช่วงที่มีไข้ใน 10 วันแรก  จะต้องตรวจหัวใจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ด  เพื่อดูลักษณะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ  และให้ยาลดการอักเสบคือ  ยาแอสไพรินขนาดสูงให้รับประทานอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 – 2 สัปดาห์  และให้โปรตีนชนิดหนึ่งเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งจะมีราคาแพง  พบว่าหลังให้ยาดังกล่าว ไข้มักจะลดลงภายใน  24 - 48  ชั่วโมง  หลังจากไข้ลดจะต้องให้แอสไพรินขนาดต่ำวันละ  1  ครั้ง  รับประทานต่อเนื่อง 6 – 8 สัปดาห์  เพื่อป้องกันเกร็ดเลือดรวมกันเป็นก้อน  ซึ่งอาจไปซ้ำเติมให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดที่ผิดปกติได้ หลังจากนั้นถ้าตรวจอัลตราซาวน์ดหัวใจซ้ำพบว่า  หลอดเลือดหัวใจปกติก็สามารถหยุดยาได้  และจากการติดตามผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดผิดปกติหลัง  8  สัปดาห์นับตั้งแต่มีไข้  เมื่อ 1 ปีต่อมา  2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ  ที่เหลือ 1 ใน 3  ยังมีความผิดปกติอยู่  ต้องติดตามเป็นระยะ  และรับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำไปตลอด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช